วันอังคารที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

126: พระพิมพ์ที่ชอบ อิทธิคุณที่ใช่ กลุ่มพระกรุเนื้อชิน

พระพิมพ์ที่ชอบ อิทธิคุณที่ใช่ กลุ่มพระเนื้อชิน
พระพุทธชินราชใบเสมา




ตามหลักฐานชั้นทุติยภูมิพงศาวดารเหนือระบุว่า...เมื่อ พ.ศ.๑๙๐๐ สมัยกรุงสุโขทัย ในรัชสมัยพระมหาธรรมราชาที่ ๑ หรือพญาลิไท กษัตริย์องค์ที่ ๔ ในพระราชวงศ์พระร่วง สมัยกรุงสุโขทัย โปรดให้สร้างวัดใหญ่หรือวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร วัดชั้นเอกวรมหาวิหาร ในปัจจุบัน และโปรดให้มีการจัดสร้างพระพุทธรูปสำคัญ เพื่ออัญเชิญไปประดิษฐาน มีการรวมบรรดาช่างหล่อ ช่างปั้นฝีมือดี ทั้งจากชะเลียง (สวรรคโลก) เชียงแสน และหริภุญไชย (ลำพูน) สมทบกับช่างกรุงศรีสัชนาลัย มาร่วมกันแล้ว โดยดำริให้มีการสร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่ ๓ องค์คือ พระพุทธชินสีห์, พระศาสดา และ พระพุทธชินราช

จวบจนถึงวันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ ปีเถาะจุลศักราช ๗๑๗ ราว พ.ศ. ๑๘๙๘ ได้มงคลฤกษ์ ประกอบพิธีเททองหล่อพระพุทธรูปทั้ง ๓ องค์

เมื่อเททองหล่อเสร็จแล้ว ได้แกะแม่พิมพ์ออก ปรากฏว่า พระพุทธชินสีห์ และ พระศรีศาสดา องค์พระสมบูรณ์สวยงามดี ส่วน พระพุทธชินราช ได้หล่อถึง ๓ ครั้ง ก็ไม่สำเร็จเป็นองค์พระได้ กล่าวคือ ทองแล่นไม่ติดเต็มองค์ ครั้งสุดท้ายได้เททององค์หล่อพระพุทธรูป เมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๖ ปีมะเส็ง นพศก จุลศักราช ๓๑๙ จึงสำเร็จบริบูรณ์

ในพิธีหล่อพระครั้งนั้น พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก ได้ทรงตั้งสัตยาธิษฐาน เสี่ยงเอาบุญบารมีของพระองค์เป็นที่ตั้ง ดังนั้นจึงร้อนถึงอาสน์พระอินทร์เจ้า จึงเนรมิตเป็น ตาปะขาว ลงมาช่วยทำรูปพระ คุมพิมพ์ปั้นเบ้า ด้วยอานุภาพพระอินทราธิราชเจ้า ทองก็แล่นรอบครบบริบูรณ์ทุกประการ หาที่ติมิได้ พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกทรงปีติโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง จึงตรัสให้หา 'ตาปะขาว' ผู้นั้น แต่ตาปะขาวได้หายตัวไปแล้ว

หมู่บ้านและวัดที่ตาปะขาวหายไปนั้น ต่อมาได้ชื่อว่า 'บ้านตาปะขาวหาย' และ 'วัดตาปะขาวหาย' จนถึงทุกวันนี้ จากวัดตาปะขาวหายขึ้นไปทางทิศเหนือประมาณ ๘๐๐ เมตร ได้ปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับการหายตัวไปของตาปะขาว เล่ากันว่า มีผู้พบเห็นว่า ท้องฟ้าเปิดเป็นช่องขึ้นไป ชาวบ้านเห็นเป็นที่อัศจรรย์ จึงได้สร้างศาลาขึ้นไว้ ณ พื้นดินเบื้องล่างไว้เป็นที่ระลึก เรียกว่า 'ศาลาช่อฟ้า' จนถึงทุกวันนี้ 

  

พระพุทธชินราช หล่อขึ้นด้วยทองสัมฤทธิ์ขัดเงาเกลี้ยง เป็นพระพุทธรูปองค์ประธานของวัด ปางมารวิชัย ขนาดใหญ่ หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ ขนาดหน้าตักกว้าง ๕ ศอก ๑ คืบ ๕ นิ้ว หรือประมาณ ๒.๘๗๕ เมตร มีความสูง ๗ ศอก หรือราว ๓.๕ เมตร พุทธลักษณะงดงามที่สุดในเมืองไทย เส้นรอบนอกพระวรกายอ่อนช้อย พระพักตร์ค่อนข้างกลม พระขนงโก่ง พระเนตรประดุจตากวาง พระนาสิกโด่ง ชายผ้าสังฆาฏิแยกเป็นเขี้ยวตะขาบ พระเกตุมาลาเป็นรูปเปลวเพลิง มีลักษณะพิเศษที่เรียกว่า 'ทีฒงคุลี' คือ ที่ปลายนิ้วทั้งสี่ยาวเสมอกัน

 ซุ้มเรือนแก้วทำด้วยไม้แกะสลัก สร้างในสมัยอยุธยา แกะสลักเป็นรูปตัวมกร (ลำตัวคล้ายมังกร และมีงวงคล้ายช้าง) อยู่ตรงปลายซุ้ม และตัวเหรา (คล้ายจระเข้) อยู่ตรงกลางซุ้ม และมีเทพอสุราคอยปกป้ององค์พระอยู่ ๒ องค์ คือ ท้าวเวสสุวัณ และอารวกยักษ์ อีกทั้งยังมี พระโมคคัลลานะ และพระสารีบุตร เป็นอัครสาวกอยู่ด้วย พระพุทธชินราช ประดิษฐานในวิหารลักษณะเก้าห้อง ซึ่งมีการบูรณปฏิสังขรณ์มาอย่างต่อเนื่อง จนถึงปัจจุบัน ทำให้องค์พระสวยงามบริบูรณ์อยู่เสมอ



ตามบันทึกในประวัติศาสตร์กษัตริย์ในทุกสมัยของไทยได้ให้ความเคารพศรัทธาเลื่อมใสต่อองค์พระพุทธชินราช มาโดยตลอดทุกๆ พระองค์ เมืองพิษณุโลกในช่วงเวลาที่มีการสร้างพระพุทธชินราช หรือหลวงพ่อใหญ่ ได้มีการสร้างพระเครื่องบรรจุกรุไว้ในวัดพระศรีรัตนมหาธาตุเพื่อสืบทอดพุทธศาสนา พระเครื่องหลายพิมพ์มีแบบพิมพ์องค์พระลอกแบบพุทธศิลป์ที่สื่อความหมายถึงพระพุทธชินราชองค์ใหญ่นั่นเอง

พระพุทธชินราช ใบเสมา เนื้อชินเงิน ได้รับการคัดเลือกไว้ในชุดเบญจภาคีพระเนื้อชินยอดนิยม ศิลปะแบบอู่ทองยุคต้น ขุดพบจากกรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ

เนื่องจากมีพุทธลักษณะเหมือนกับพระพุทธชินราชองค์ใหญ่ ที่เป็นพระประธาน ชาวบ้านจึงนำพระนามของท่านมาตั้งเป็นชื่อของพระเครื่องที่ขุดพบจากวัดนี้ด้วย และเนื่องจากองค์พระมีสัณฐานเหมือนกับ ใบเสมา ที่ปรากฏตามรอบอุโบสถตามวัดทั่วๆ ไป พระเครื่องพิมพ์นี้จึงมีชื่อเรียกเต็มๆ ว่า พระพุทธชินราช ใบเสมา

พุทธลักษณะ องค์พระประทับนั่งอยู่บนบัว ๒ ชั้น ภายในซุ้มเรือนแก้ว ที่ลงตัวอย่างสวยงาม มีปลายยอดพระเกศที่สูงยาวติดขอบซุ้มด้านบน ที่ฐานบัว ๒ ชั้นมีเม็ดไข่ปลาคั่นเป็นจุดๆ ระหว่างบัวบนกับบัวล่าง ดูแล้วทำให้ฐานองค์พระมีลวดลายลงตัวที่สวยงาม 

พระพุทธชินราช ใบเสมา เท่าที่พบเห็นมี ๓ พิมพ์ คือ พิมพ์ใหญ่ พิมพ์กลาง และพิมพ์เล็ก แต่ละพิมพ์จะมีพิมพ์ที่มีเนื้อส่วนเกินตรงใต้ฐาน เรียกว่า ฐานสูง พระทั้ง ๓ พิมพ์นี้ มีขนาดใกล้เคียงกัน คือ กว้างประมาณ ๒.๕ ซม. สูง ๓.๕ ซม. น้ำหนักโดยประมาณ ๑๖ กรัม

พระพุทธชินราช ใบเสมา แตกกรุออกมาเมื่อประมาณ พ.ศ.๒๔๔๐ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ มีชาวบ้านนำพระขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้พระราชทานแก่ข้าราชบริภาร และพสกนิกรที่ตามเสด็จอย่างทั่วหน้า นับถึงทุกวันนี้ พระพิมพ์นี้ได้ขุดพบมานานกว่า ๑๑๓ ปี 

พุทธคุณ เป็นที่เลื่องลือกันว่า ล้ำเลิศทางด้านเมตตามหานิยม แคล้วคลาดปลอดภัย และมหาอำนาจ มหาบารมี เรียกได้ว่า ครอบจักรวาล ครบถ้วนทุกด้าน จึงเหมาะอย่างยิ่งสำหรับชนชั้นสูง ข้าราชการผู้ใหญ่ ผู้นำเหล่าทัพ นายทหารนายตำรวจใหญ่ และเจ้าขุนมูลนายทั่วไป ถ้าหากชาวบ้านธรรมดามีโอกาสได้ครอบครองเป็นเจ้าของ ต้องถือว่าเป็นบุญวาสนาอย่างสูงยิ่ง