วันจันทร์ที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2555

171: พระพุทธมหาธรรมราชา

สถานที่ประดิษฐาน
วัดไตรภูมิ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์

พุทธลักษณะ
ศิลปะสมันลพบุรี เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ศิลปะลพบุรีทรงเครื่อง สร้างด้วยเนื้อทองสำริด หน้าตักกว้าง 13 นิ้ว สูง 18 นิ้ว ไม่มีฐาน พระพักตร์กว้าง พระโอษฐ์แบะ พระกรรณยาวย้อยจรดพระอังสะ พระเศียรทรงชฎาเทริด หรือมีกะบังหน้า ทรงสร้อยพระศอพาหุรัด ทรงประคดเป็นลายสวยงาม

สาเหตุที่พระพุทธรูปองค์นี้ มีนามว่า พระพุทธมหาธรรมราชา
เนื่องจากพระวรกายสวมใส่เครื่องประดับของกษัตริย์นักรบสมัยโบราณ ชาวบ้านจึงพากันเรียกขานว่า
"พระพุทธมหาธรรมราชา"

ส่วนประวัติการสร้างนั้นไม่ปรากฏเด่นชัด แต่ชาวเพชรบูรณ์มีความเชื่อว่า พ่อขุนผาเมืองเจ้าเมืองราด (อ.หล่มสัก) ได้รับพระราชทานจาก พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 กษัตริย์แห่งนครธม ให้นำไปประดิษฐานเป็นพระคู่บ้านคู่เมือง หลังจากทรงอภิเษกสมรสกับ พระนางสิงขรมหาเทวี แต่หลังจากพ่อขุนผาเมืองร่วมกับพ่อขุนบางกลางท่าวเจ้าเมืองบางยาง (อ.นครไทย)พระสหาย กอบกู้อิสรภาพ ให้กับคนไทยทำให้พระนางสิงขรมหาเทวี แค้นเคืองถึงกับเผาเมืองราดจนย่อยยับจากนั้นตัดสินใจกระโดดแม่น้ำป่าสักฆ่าตัวตายทำให้ไพร่พลเสนาอำมาตย์ ต้องอัญเชิญพระพุทธมหาธรรมราชาลงแพล่องไปตามแม่น้ำป่าสักเพื่อหลบหนีไฟ แต่ปรากฏว่าแม่น้ำป่าสักมีความคดเคี้ยวและกระแสน้ำไหลเชี่ยวกราก ทำให้แพที่อัญเชิญพระพุทธมหาธรรมราชาแตกจนองค์พระจมดิ่งลงสู้ก้นแม่น้ำหายไปกระทั่งต่อมาชาวประมงได้ไปพบ จนก่อให้เกิด ตำนานมหัศจรรย์และ "ประเพณีอุ้มพระดำน้ำ" ขึ้น



มหาพุทธานุสรณ์ บนแผ่นดินเพชรบูรณ์
พระพุทธมหาธรรมราชาเฉลิมพระเกียรติ ฯ
ณ พุทธอุทยานเพชบุระ จังหวัดเพชรบูรณ์



เพชรบูรณ์หรือเมืองเพชบุระในอดีต เป็นแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ อันส่งผลดลบันดาลให้เมืองเพชรบูรณ์อุดมสมบูรณ์และร่มเย็นเป็นสุขมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล ภายใต้อิทธิบารมีแห่งบวรพระพุทธศาสนาและองค์สัญลักษณ์นั่นคือ พระพุทธมหาธรรมราชา พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของเพชรบูรณ์

จากหลักฐานทางโบราณคดีสองชิ้นสำคัญที่สุดของเพชรบูรณ์ ชิ้นแรกคือ จารึกลานทองคำที่ พบในเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ วัดมหาธาตุ ได้มีการจารข้อความที่ฝากฝังให้คนเพชรบูรณ์ซึ่งเป็นผู้พบจารึกดังกล่าวให้ ช่วยกันส่งเสริมเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้ยืนยงสถาพรต่อไป และชิ้นที่สองคือ เสาหลักเมืองเพชรบูรณ์ที่เป็นศิลาจารึก ก็ได้มีการจารึกข้อความขอให้ชาวเพชรบูรณ์ได้ช่วยกันทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้คงอยู่จวบจนห้าพันปีให้ได้

เมื่อพุทธศักราช ลุเข้าสู่ปีที่ ๒๕๕๔ ชาวเพชรบูรณ์และพุทธศาสนิกชนทั้งหลายจึงได้ร่วมกันปฏิบัติภารกิจอันยิ่งใหญ่ ที่ได้รับมอบหมายดังกล่าว นั่นคือ การประกาศบวรพระพุทธศาสนาให้ประดิษฐานอย่างมั่นคงบนแผ่นดินเพชรบูรณ์ โดยการร่วมกันสร้าง “พระพุทธมหาธรรมราชา เฉลิมพระเกียรติ ๘๔ พรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช”

โมทนาสาธุครับ (Link ภาพ)
ข้อความดั้งเดิมโดยคุณ srithong999 อ่านข้อความ
องค์นี้ใช้หรือเปล่าครับ?
งดงามมากหลาย ท่านทำเป็นพระยอดธงด้วยหรือนี่? ขอบพระคุณท่านมากที่กรุณานำภาพมาให้ชมครับ
ปล:
- พระที่มีประวัติเกี่ยวข้องกับน้ำน่าจะเกี่ยวข้องกับพญานาค
- ปกติพระพุทธที่ทรงประครองบาตรน้ำมนต์ ท่านจะเรียกว่าพระไภษัชยคุรุ
- แต่องค์พระพุทธมหาธรรมราชานี่ ทรงทำให้ผมงงนิดหน่อย ทั้งประวัติการสร้างก็เป็นเพียงคำสันนิษฐาน


พระไภสัชยคุรุไวฑูรยประภาสุคต พระพุทธเจ้าแห่งยา ( Medicine Buddha)
วรรณะกายสีน้ำเงิน เป็นคติความเชื่อในนิกายวัชรยาน
องค์นั่งปางสมาธิบนพระหัตถ์ถือบาตรน้ำมนตร์ หรือ "หม้อมงคล" หรือ ผอบพระโอสถ

ข้อความดั้งเดิมโดยคุณ srithong999 อ่านข้อความ
ท่านสมบัติ

ไม่ทราบว่าองค์นี้คือ พระไภสัชยคุรุไวฑูรยประภาสุคต หรือไม่????
เป็นพระบูชาประมาณ 4-5 นิ้ว นาคปรกสามารถถอดออกได้ ใต้ฐานอุดดินแดง

สำหรับพระยอดธงมหาธรรมราชาองค์นี้เป็นเนื้อพิเศษครับ
IT Man:
- พระศิลปะเช่นนี้ (ปางสมาธิ+นาคปรก+ประครองบาตรน้ำมนต์) เป็นความตั้งใจสร้างให้เป็น..
พระไภษัชยคุรุพุทธเจ้า

- ซึ่งสอดคล้องกับองค์พระที่ท่านนำมา show ข้างต้นครับ

ปล:
- สำหรับพระยอดธงมหาธรรมราชาที่ท่านบอกว่าเป็นเนื้อพิเศษนั้น หากเป็นไปได้...
โปรดเมตตาให้ข้อมูล เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชนรุ่นหลัง ก็จักเป็นพระคุณยิ่งครับ
- พระยอดธง ปกติก็ถือว่าพิเศษยิ่งอยู่แล้ว หากแม้นเป็นเนื้อพิเศษด้วยแล้วนั้น
ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ปกติ (พิเศษ) ของพระสำคัญกระมังครับ หึหึ

(เป็นความเห็นส่วนตัวจากการสืบค้นข้อมูลหลายๆมิติ)

ขอแสดงความยินดีที่ท่านมีพระพิมพ์ที่สำคัญๆอยู่ในการครอบครองครับ
ความเห็นส่วนตัวผม :
ฐานของท่านไม่มี...แสดงว่าต้องสามารถถอด หรือวางไว้ในฐานสูง ซึ่งหากอัญเชิญท่านมาประดิษฐานไว้บนขนดพญานาคแล้ว ก็จักทรงกลายเป็นองค์พระไภษัชยะคุรุพุทธเจ้าทันที

ตามประวัติบอกว่าท่านเสด็จมาทางน้ำ มีความเป็นไปได้ที่ฐานที่ซึ่งเป็นขนดพญานาคนั้น อาจสูญหายไปในแม่น้ำ หรืออาจจะแยกชิ้นไป หรือเพื่อความสะดวกต่อการเคลื่อนย้าย
เช่นเดียวกับองค์พระพุทธนวราชนาคาองค์นี้ครับ


ในคติความนิยม มักจะกล่าวว่า พระปางนาคปรกนั้นเป็นพระประจำวัน ของผู้ที่เกิดวันเสาร์

พระนาคปรกนั้นมีพระพุทธคุณปาฏิหาริย์ในการคุ้มครองป้องกัน การสร้างความมั่นคง รุ่งเรือง ในฐานานุรูป และโภคทรัพย์ และดลบันดาลสันติสุข ร่มเย็น เป็นมงคลแก่บุคคลที่เคารพบูชาทั่วไป

มีข้อสังเกตว่า สมัยที่อาณาจักรขอมรุ่งเรืองนั้น ในปราสาท ราชวัง และสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ เรามักจะเห็นพระพุทธรูปปางนาคปรกประดิษฐานอยู่ทั่วไปเกือบทุกแห่ง

ดังนั้น...ปีนี้เป็นปีที่กำลังจะย่างเข้าปีใหม่คือปีนักษัตรมะโรง (งูใหญ่ หรือพญานาค) หากท่านพอมีกำลัง ก็ลองหาพระบูชานาคปรก มาประดิษฐานไว้ในบ้านเรือน เพื่อความร่มเย็นเป็นสุขของท่านและครอบครัวสักองค์นะครับ
IT Man/09.04.55

ข้อความดั้งเดิมโดยคุณ srithong999 อ่านข้อความ
ท่านสมบัติครับ เป็นเพียงข้อมูลที่ผมพยายามใช้ทางวิทยาศาสตร์ช่วย
โดยการตรวจ X-Ray Fluorescent พบว่า

มีส่วนผสมของทองคำสูงถึง 64% ทองแดง 15% สังกะสี 10%
แต่ที่ประหลาดใจ คือ พบเนื้อปรอทสูงถึง 6.7% นอกนั้นเป็นโลหะอื่น ๆ

พระพิมพ์ยอดธงและพิมพ์ที่ไม่ใช่ยอดธง ก็มีนะครับ แต่บุด้วยทองคำ
ด้านในไม่ทราบว่าเป็นเนื้ออะไร เงินหรือทองแดง ดังในรูป 

................................................................................................
ข้อมูลข้างล่างเป็น Link ที่ Copy กันไปมา จนไม่ทราบแหล่งต้นของข้อมูล ท่านว่าดังนี้...
................................................................................................
คงมีหลายท่านที่ชื่นชอบพระเครื่องหรือวัตถุมงคลต่างๆ ที่มีส่วนผสมของโลหะหลายชนิดและมีชื่อเรียกเฉพาะเช่น เนื้อสำริดหรือสัมฤทธิ์ เนื้อสัตตโลหะ เนื้อนวโลหะ เป็นต้น
ในการทำพระเครื่องและวัตถุมงคลนั้น ในสมัยโบราณได้มีการเล่นแร่แปรธาตุกัน แต่ละสำนักซึ่งส่วนใหญ่สามารถแบ่งหรือแจกแจงมวลสารโลหะที่ใช้ทำพระเครื่องได้ดังนี้
เนื้อนวโลหะ ประกอบไปด้วย โลหะ 9 อย่างได้แก่ ทองคำ เงิน ทองแดง จ้าวน้ำเงิน เหล็กละลายตัว ชิน ตะกั่วน้ำนม ปรอท สังกะสี
เนื้อสัตตโลหะประกอบด้วย ทองคำ ทองแดง จ้าวน้ำเงิน เหล็ก ตะกั่ว ปรอท
โลหะสัมฤทธิ์โบราณ ประกอบไปด้วยธาตุบริสุทธิ์ตั้งแต่ 3 ชนิดขึ้นไปโดยมี แร่ทองคำและเงินเป็นหลัก ถ้าไม่มีจะไม่ถือว่าเป็นสัมฤทธิ์ และที่เป็นหลักอีกอย่างคือทองแดง ซึ่งจะใช้มากเพื่อให้ได้ปริมาณ
เนื้อสำริดหรือสัมฤทธิ์ ประกอบด้วยตระกูลของสัมฤทธิ์ที่ถูกต้องตามสูตรโบราณมีอยู่ 5 ตระกูล คือ สัมฤทธิ์ผล สัมฤทธิ์โชค สัมฤทธิ์ศักดิ์ สัมฤทธิ์คุณ และสัมฤทธิ์เดช รวมเป็นสัมฤทธิ์ 5 ตระกูล อันมีความพิสดารดังต่อไปนี้
1. สัมฤทธิ์ผล คือสัมฤทธิ์แดง หรือตริยโลหะ มีมงคลความหมายถึง พระรัตนตรัยเป็นทองสัมฤทธิ์เนื้อสาม ผสมด้วยโลหะธาตุ 3 ชนิด คือ ทองแดง เป็นส่วนใหญ่และเจือด้วยเงินกับทองคำ สัมฤทธิ์ตระกูลนี้มีวรรณะแดงคล้ายนาก แต่มีผิวเจือด้วยวรรณะคล้ำๆ คล้ายสีมะขามเปียก โบราณถือว่าเป็นมงคลวัตถุ อำนวยผลนานาประการโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านเมตตามหานิยม พระพุทธรูปสมัยอู่ทองโดยเฉพาะพระพุทธรูปอู่ทองหน้าแก่มักสร้างด้วยเนื้อนี้
2. สัมฤทธิ์โชค คือสัมฤทธิ์เหลือง หรือปัญจโลหะ เป็นโบราณนิยามหมายถึงเบญจขันธ์ (ขันธ์ 5) คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นทองสัมฤทธิ์เนื้อห้า ได้แก่ ทองแดง ตะกั่ว สังกะสี เงิน ทองคำ มีวรรณะเหลืองคล้ายเนื้อกลองมโหระทึก หรือขันลงหิน มีแววนกยูงภายในเนื้อ เป็นสัมฤทธิ์ที่ให้คุณหนักไปทางด้านลาภผล กับความสำเร็จ พระพุทธรูปสกุลช่างสุโขทัยบางยุคและพระเชียงแสน พระชัยวัฒน์ของสมเด็จพระสังฆราชแพ บางรุ่น และพระกริ่งพระชัยวัฒน์ของท่านเจ้าคุณศรีสนธิ์บางรุ่นก็สร้างด้วยเนื้อนี้3. สัมฤทธิ์ศักดิ์ คือสัมฤทธิ์ขาว หรือสัตตโลหะ เป็นมงคลนามหมายถึง โพชฌงค์ 7 คือ องค์ธรรมเป็นเครื่องตรัสรู้ มี 7 ประการ ได้แก่ สติ ธัมมวิจยะ วิริยะ ปิติ ปัสสัทธิ สมาธิ และอุเบกขา สัมฤทธิ์ศักดิ์เป็นทองสัมฤทธิ์เนื้อเจ็ด ประกอบด้วย ทองแดง ตะกั่ว สังกะสี ปรอท เหล็กละลายตัว เงิน และทองคำ สัมฤทธิ์ตระกูลนี้มีวรรณะหม่นคล้ำน้อยๆ แต่มีแวววรรณะขาวผสมผสานอยู่ นับถือกันว่าอำนวยผลในด้านอำนาจ มหาอุด คงกระพัน แคล้วคลาด
4. สัมฤทธิ์คุณ คือสัมฤทธิ์เขียว หรือนวโลหะ หมายถึงนัยของธรรมอันสูงสุดในพระศาสนา อันได้แก่ นวโลกุตรธรรม อันมี มรรค 4 ผล 4 นิพพาน 1 สัมฤทธิ์คุณเป็นทองสัมฤทธิ์เนื้อเก้า เช่นเดียวกับสัมฤทธิ์เดช ประกอบด้วย ทองแดง ตะกั่ว สังกะสี ปรอท เหล็กละลายตัว ชิน จ้าวน้ำเงิน เงิน และทองคำ แต่สัมฤทธิ์ตระกูลนี้แก่ส่วนผสมของเนื้อเงินมากกว่าธรรมดา ฉะนั้น เนื้อภายในจึงมีวรรณะสีจำปาอ่อนหรือนากอ่อน แต่ผิวเนื้อเมื่อกลับคล้ำเพราะถูกไอเหงื่อ จะมีวรรณะคล้ำเจือเขียวเตยหม่นแกมเหลืองอ่อนคล้ำมีแววขาวโดยตลอดเนื้อ สัมฤทธิ์ชนิดนี้อำนวยคุณวิเศษเช่นเดียวกับสัมฤทธิ์เดชทุกประการ
5. สัมฤทธิ์เดช คือสัมฤทธิ์ดำ หรือนวโลหะ เป็นทองสัมฤทธิ์เนื้อเก้า เช่นเดียวกับสัมฤทธิ์คุณ แต่มีสัดส่วนการผสมได้เกณฑ์ถูกต้องตามมูลสูตรมากที่สุด ดังนั้นภายในจึงมีวรรณะจำปาแก่ หรือสีนากแก่ ผิวเนื้อเมื่อกลับคล้ำเพราะต้องไอเหงื่อ จะดำสนิท ประหนึ่งนิลดำ เรียกกันว่า "สัมฤทธิ์เนื้อกลับ" โบราณถือว่าสัมฤทธิ์นวโลหะทั้ง 2 ประเภทนี้ เป็นสัมฤทธิ์ที่สมบูรณ์ที่สุด หรือเป็นยอดของสัมฤทธิ์ อำนวยผลในด้านมหาอุตม์อันสูงส่ง คืออำนาจตะบะเดชะ มหานิยม ลาภผล ความสำเร็จ คงกระพัน แคล้วคลาด ทุกประการ สูตรผสมเนื้อสัมฤทธิ์เดช หรือนวโลหะ ที่เป็นตำรับของสมเด็จพระพนรัต วัดป่าแก้ว ยุคกรุงศรีอยุธยา ตกทอดมาอยู่กับ สมเด็จกรมพระยาปรมานุชิตชิโนรส วัดพระเชตุพนฯ พระพุฒาจารย์มา ครั้งยังเป็นพระมงคลทิพยะมุนี วัดจักรวรรดิฯ และสมเด็จพระสังฆราช แพ วัดสุทัศน์ ครั้งยังเป็นพระเทพโมลีตามลำดับ เกณฑ์อัตราส่วนผสมของโลหะทั้ง 9 ชนิด มีดังนี้
1) ชิน หนัก 1 บาท
2) จ้าวน้ำเงิน หนัก 2 บาท
3) เหล็กละลายตัว หนัก 3 บาท
4) ตะกั่วเถื่อน หนัก 4 บาท
5) ปรอท หนัก 5 บาท
6) สังกะสี หนัก 6 บาท
7) บริสุทธิ์ (ทองแดงเถื่อน) หนัก 7 บาท
8) เงิน หนัก 8 บาท
9) ทองคำ หนัก 9 บาท
เนื้อทองสัมฤทธิ์เดชนี้ เราจะเห็นได้ว่า ส่วนผสมใช้ทองคำมากกว่าโลหะอื่นๆ ซึ่งหนักถึง 9 บาท จึงจะได้น้ำหนักของเนื้อสัมฤทธิ์เดชเพียง 45 บาทเท่านั้น ซึ่งก็จะสร้างเป็นองค์พระไม่ได้มากนัก ในปัจจุบันจึงไม่มีใครกล้าทำเนื้อทองสัมฤทธิ์เดช ซึ่งเป็นนวโลหะจริงๆ ตามสูตรโบราณเนื่องจากจะสิ้นเปลืองมาก การสร้างพระเครื่องและเหรียญในปัจจุบันนี้ได้ทำให้คนเข้าใจผิดกันมาก โดยเรียกโลหะผสมชนิดเนื้ออ่อนๆ ชนิดหนึ่งว่าเป็นเนื้อนวโลหะ และเรียกโลหะผสมชนิดเนื้อกลับว่า เป็นเนื้อสัมฤทธิ์ ซึ่งเป็นการตรงกันข้าม เพราะคำว่านวโลหะ หมายถึงเนื้อทองสัมฤทธิ์เนื้อเก้าตามแบบโบราณเท่านั้นครับ เรื่องของเนื้อทองสัมฤทธิ์ก็มีเท่าที่เล่ามานี้แหละครับ ส่วนเนื้อโลหะอื่นๆ ที่นำมาสร้างพระเครื่องก็ยังมีอีกมาก เช่นเนื้อชิน เนื้อเมฆพัด เนื้อเมฆสิทธิ์ และเนื้ออัลปาก้าเป็นต้น
...............................................................................................
สำหรับพระพุทธมหาธรรมราชาองค์น้อย...ที่ท่าน srithong นำภาพมาให้ชมนี้ เข้าข่ายข้อสองคือ...

สัมฤทธิ์โชค คือสัมฤทธิ์เหลือง หรือปัญจโลหะ เป็นโบราณนิยามหมายถึงเบญจขันธ์ (ขันธ์ 5) คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
เป็นทองสัมฤทธิ์เนื้อห้า ได้แก่ ทองแดง ตะกั่ว สังกะสี เงิน ทองคำ มีวรรณะเหลืองคล้ายเนื้อกลองมโหระทึก หรือขันลงหิน
มีแววนกยูงภายในเนื้อเป็นสัมฤทธิ์ที่ให้คุณหนักไปทางด้านลาภผล กับความสำเร็จ พระพุทธรูปสกุลช่างสุโขทัยบางยุคและพระเชียงแสน
พระชัยวัฒน์ของสมเด็จพระสังฆราชแพ บางรุ่น และพระกริ่งพระชัยวัฒน์ของท่านเจ้าคุณศรีสนธิ์บางรุ่นก็สร้างด้วยเนื้อนี้
...............................................................................................
จาก LINK
IT Man/09.04.55