ชาติภูมิ
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) เกิดเมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 5 ขึ้น 12 ค่ำ ปีวอก ตรงกับวันที่ 17 เมษายนพ.ศ. 2331[6] ที่บ้านท่าหลวง อำเภอท่าเรือ[7]จังหวัดพระนครศรีอยุธยา[8]
มารดาบิดาของท่านเป็นใครไม่ทราบแน่ชัด มีผู้กล่าวประวัติของท่านในส่วนนี้แตกต่างกันไปหลายสำนวน เช่น ฉบับของพระยาทิพโกษา กล่าวว่า มารดาของท่านชื่อนางงุด บุตรของนายผลกับนางลา ชาวนาเมืองกำแพงเพชร [9] หรือฉบับของพระครูกัลยาณานุกูล (เฮง อิฏฐาจาโร) กล่าวว่า มารดาของท่านชื่อเกตุ คนท่าอิฐ อำเภอบางโพ[10] อย่างไรก็ดีมารดาของท่านนั้นเป็นชาวเมืองเหนือ (คำเรียกในสมัยอยุธยา) 2 เพราะทุกแหล่งอ้างอิงกล่าวตรงกันว่ามารดาของท่านเป็นชาวเมืองเหนือแต่ได้ลงมาทำมาหากินแถบภาคกลางในช่วงหลัง3
สำหรับบิดาของท่านนั้น สำนวนของพระยาทิพโกษา กล่าวว่าท่านเป็นโอรสนอกเศวตฉัตรของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ครั้งทรงพระยศเป็น เจ้าพระยาจักรี ส่วนฉบับของพระครูกัลยาณานุกูล และฉบับของตรียัมปวายกล่าวว่าท่านเป็นพระโอรสของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และแม้ในสำนวนของตรียัมปวายจะมีข้อสันนิษฐานเพื่อยืนยันหลายข้อ แต่อย่างไรก็ตาม ประวัติทั้งสองสำนวนกล่าวตรงกันเพียงว่า ข้อสันนิษฐานว่าด้วยบิดาของท่านนั้นเป็นเพียงเรื่องเล่าซึ่งชาวบ้านในสมัยนั้นกล่าวและเชื่อกันโดยทั่วไป[11][แก้] บรรพชาและอุปสมบท
เมื่อถึงวัยพอสมควรแล้วได้บรรพชาเป็นสามเณรในพระพุทธศาสนา ต่อมาปรากฏว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงโปรดและเมตตาสามเณรโตเป็นอย่างยิ่ง ครั้นอายุครบอุปสมบทปี พ.ศ. 2350 ได้โปรดเกล้าฯให้อุปสมบทเป็นนาคหลวงที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีสมเด็จพระสังฆราช (สุก) เป็นพระอุปัชฌาย์ ในรัชกาลที่ 2 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงโปรดฯรับไว้ในพระราชูปถัมภ์
[แก้] ธุดงควัตรและไม่ปรารถนาสมณศักดิ์
ครั้นถึงรัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จะทรงสถาปนาสมณศักดิ์เพื่อยกย่องในกิตติคุณ และเกียรติคุณแต่ท่านไม่ยอมรับ (ปกติท่านไม่ปรารถนายศศักดิ์ดังจะเห็นได้จากเจ้าประคุณสมเด็จฯ ศึกษาพระธรรมวินัยแตกฉาน แต่ไม่ปรารถนายศศักดิ์จึงไม่ยอมเข้าแปลหนังสือเพื่อเป็นพระเปรียญ) ต่อมาเล่ากันว่า “…ท่านออกธุดงค์ไปตามสถานที่ต่างๆ และได้สร้างปูชนียสถานในที่ต่างๆกัน เช่น สร้างพระพุทธไสยาศน์ไว้ที่วัดสตือ ตำบลท่าหลวง อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สร้างพระพุทธรูปหลวงพ่อโต วัดไชโย จังหวัดอ่างทอง นอกจากนี้ยังมีปูชนียสถานที่เจ้าประคุณสมเด็จฯได้สร้างไว้ในที่ต่างๆอีก ซึ่งทุกอย่างที่ท่านสร้างจะมีขนาดใหญ่โตสมกับชื่อของพระคุณท่าน อนึ่ง เจ้าประคุณสมเด็จฯ ไม่ว่าท่านจะไปอยู่ ณ ที่ใดๆท่านย่อมเป็นที่รักใคร่ของมหาชนทุกหนทุกแห่งและด้วยบารมีของเจ้าประคุณสมเด็จฯนี้เอง จึงทำให้บรรดาพุทธศาสนิกชนในยุคนั้นเคารพเลื่อมใส ดังจะเห็นได้จาก พระพุทธรูปองค์ใหญ่โตที่ท่านสร้างจะต้องใช้ทุนทรัพย์และแรงงานจำนวนมากในการก่อสร้าง จึงจะทำได้สำเร็จ ฉะนั้น จึงสรุปได้อย่างไม่ต้องสงสัยเลยว่าเมื่อท่านจะทำการใดคงจะต้องมีผู้อุทิศทั้งทรัพย์และแรงงานช่วยทำการก่อสร้างปูชนียวัตถุจึงสำเร็จสมดังนามของท่านทุกประการ
[แก้] สมณศักดิ์สมเด็จพระพุฒาจารย์ฯ
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) พระองค์ทรงโปรดปรานสมเด็จฯเป็นอย่างมาก ต่อมาในปี พ.ศ. 2395 ได้พระราชทานสมณศักดิ์ครั้งแรกถวายเป็นพระราชาคณะที่พระธรรมกิติ ขณะนั้นท่านอายุ 65 ปี ครั้งนั้นท่านยอมรับสมณศักดิ์ (โดยมีเหตุผลที่ทำให้ต้องยอมรับสมณศักดิ์) ครั้นต่อมาอีก 2 ปี คือพ.ศ. 2397 ได้รับการสถาปนาสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่ “ พระเทพกวี “ อีก 10 ปี (พ.ศ. 2407) จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมณศักดิ์ขึ้นเป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ มีนามจารึกตามสุพรรณบัฏว่า “สมเด็จพระพุฒาจารย์” เอนกปรีชา วิสุทธศีลจรรยาสมบัติ นิพัทธุตคุณ สิริสุนทร พรตจาริก อรัญญิกคนฤศร สมณนิกรมหาปริณายก ตรีปิฎกโกศล วิมลศีลขันธ์ ณ วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร พระอารามหลวงฯ อนึ่งกิตติคุณ และชื่อเสียงของเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี ได้ขจรกระจายไปทั่วทิศานุทิศว่า “ เจ้าประคุณสมเด็จ คือ ที่พึ่งของสัตว์โลกผู้ตกอยู่ในห้วงของความทุกข์ทั้งมวล”
[แก้] บั้นปลายชีวิต
ในราวปี พ.ศ. 2410 เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี ได้มาเป็นประธานก่อสร้างปูชนียวัตถุครั้งสุดท้ายที่สำคัญของท่าน คือ องค์หลวงพ่อโต ที่วัดอินทรวิหาร ครั้นท่านทำการก่อสร้างได้สูงถึงพระนาภี (สะดือ) ก็มีเหตุให้ไม่สำเร็จ เพราะวันเสาร์ แรม 2 ค่ำ เดือน 8 ปีวอก ตรงกับวันที่ 22 มิถุนายน 2415 เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒจารย์ (โต) พรหมรังสี ได้สิ้นชีพิตักษัย (มรณภาพ) บนศาลาเก่าบางขุนพรหม สิริอายุคำนวณได้ 84 ปี 2 เดือน 5 วัน และมีชีวิตอยู่ในสมณเพศได้ 65 พรรษา
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี