วันอังคารที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2554

36: เบญจภาคีเนื้อชินในดวงตราไปรษณียากร

กฤษฎา พิณศรี
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์


ปัจจุบัน ความนิยมในการสะสมพระพิมพ์ดูเหมือนจะกลายเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของคนไทยและสังคมไทย อาจกล่าวได้ว่าผู้ให้ความสนใจสะสมพระพิมพ์นั้นมีแทรกอยู่ในแทบทุกวงการ ทุกสาขาอาชีพ

ล่าสุด กระแสความนิยมดังกล่าวยังได้แพร่เข้าไปในแวดวงนักสะสมดวงตราไปรษณียากร จากการที่บริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด ได้จัดพิมพ์ดวงตราไปรษณียากรชุดพระพิมพ์เนื้อชินนำออกจำหน่ายเมื่อเดือนมิถุนายน ๒๕๔๘ ที่ผ่านมา นับเป็นดวงตราไปรษณียากรพระพิมพ์ชุดที่ ๒ ที่จัดทำขึ้นหลังจากชุดพระเบญจภาคีที่จัดทำครั้งแรกได้รับความนิยมอย่างสูง

พระพิมพ์ที่ได้รับการคัดเลือกมาจัดพิมพ์ลงบนดวงตราไปรษณียากรครั้งนี้ ประกอบด้วย พระร่วงรางปืน พระลพบุรีหูยาน พระพุทธชินราชใบเสมา พระท่ากระดาน และพระมเหศวร หรือที่รู้จักกันในชื่อ "ยอดขุนพลพระเนื้อชิน"

พระเนื้อชินคือพระเครื่องที่สร้างด้วยโลหะผสม โดยมีตะกั่วเป็นวัสดุหลัก และมีโลหะอื่น เช่น ดีบุกผสม หากมีปริมาณตะกั่วอยู่มาก พระพิมพ์ที่ได้จะมีความอ่อนตัว บิดงอได้ง่าย เรียกว่า "ชินอ่อน" หรือ "ชินตะกั่ว" ถ้ามีดีบุกผสมอยู่มาก พระพิมพ์จะมีความแข็งมากกว่า ผิวเป็นประกายคล้ายโลหะเงิน จึงมักเรียกกันว่า "ชินกรอบ" หรือ "ชินเงิน"

ในสมัยก่อน เมื่อพูดถึงพระเนื้อชินที่มีชื่อเสียงโด่งดังในทางแคล้วคลาด คงกระพัน มักจะนึกถึงพระพิมพ์สามชนิดด้วยกัน คือ พระร่วงรางปืน พระลพบุรีหูยาน และพระท่ากระดาน ซึ่งถูกจัดให้เป็นชุด "ไตรภาคีแห่งอิทธิฤทธิ์"

ต่อมา เมื่อกระแสของพระเบญจภาคี (ประกอบด้วยพระสมเด็จ ที่สร้างขึ้นโดยสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) แห่งวัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร พระนางพญา กรุวัดนางพญา จังหวัดพิษณุโลก พระลีลาเม็ดขนุน (หรือพระซุ้มกอ) กรุทุ่งเศรษฐี จังหวัดกำแพงเพชร พระรอด กรุวัดมหาวัน จังหวัดลำพูน และพระผงเกสรสุพรรณหรือพระผงสุพรรณ กรุพระปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดสุพรรณบุรี) ซึ่งถูกกำหนดขึ้นเมื่อราว พ.ศ.๒๔๙๗ โดยพลตรีประจญ กิตติประวัติ นักสะสมและนักเขียนเรื่องพระพิมพ์ที่รู้จักกันในนามปากกา "ตรียัมปวาย" ได้กลายเป็นที่ยอมรับและรู้จักแพร่หลาย จึงได้มีความพยายามในการจัดชุดพระพิมพ์ประเภทต่างๆ เป็นชุด ชุดละห้าองค์ เรียกว่า พระชุดเบญจภาคี เช่น เบญจภาคีพระปิดตาเนื้อโลหะ เบญจภาคีพระปิดตาเนื้อผง เบญจภาคีเหรียญเกจิอาจารย์

รวมทั้งเบญจภาคีพระเนื้อชินที่นำมาพิมพ์ลงบนดวงตราไปรษณียากรชุดดังกล่าว โดยได้เพิ่มพระชินราชใบเสมาและพระมเหศวรเข้ารวมเป็นชุดห้าองค์

พระร่วงรางปืน เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องในอิริยาบถยืนบนแท่นภายในซุ้มเรือนแก้ว พระหัตถ์ขวายกขึ้นระดับพระอุระ พระกรซ้ายทอดลงขนานกับลำพระองค์ แบหงายฝ่าพระหัตถ์ออกด้านหน้า เป็นกิริยาประทานพร ครองจีวรห่มคลุมบางแนบพระวรกาย ปรากฏเส้นขอบจีวรบริเวณรอบพระศอ และมีชายจีวรเป็นเส้นพลิ้วบางขนานกับพระองค์ตกลงมาเบื้องล่าง รายละเอียดของพระพักตร์ชัดเจน สีพระพักตร์ค่อนข้างเคร่งขรึม สวมศิราภรณ์ ได้แก่ กระบังหน้าและมงกุฎรูปกรวย หรือที่เรียกกันว่า "หมวกชีโบ" นุ่งสบง คาดด้วยรัดประคดที่มีการตกแต่งลวดลายคล้ายที่ปรากฏในศิลปะเขมรแบบบายน

ที่มีชื่อเรียกว่า "พระร่วงรางปืน" หรือ "พระร่วงหลังรางปืน" เนื่องจากด้านหลังขององค์พระมีลักษณะเป็นร่องลึกยาว นับเป็นพระพิมพ์ที่นิยมเล่นหากันมาเป็นเวลานาน ทั้งยังได้รับการยกย่องให้เป็นจักรพรรดิแห่งพระเนื้อชิน

ประวัติการแตกกรุจากคำบอกเล่าและบันทึกต่อกันมาพอสรุปได้ว่า ราว พ.ศ.๒๔๙๐ เศษ (บ้างว่า พ.ศ.๒๔๙๓ บ้างก็ว่า พ.ศ.๒๔๙๙ ข้อมูลไม่ตรงกัน) ได้มีการลักลอบขุดเจาะพระปรางค์ประธานวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัย และพบพระร่วงรางปืนบรรจุอยู่ภายในไหโบราณจำนวนประมาณ ๒๐๐ - ๒๔๐ องค์

กว่าครึ่งของพระพิมพ์ที่พบอยู่ในสภาพชำรุด

พระร่วงรางปืนจัดเป็นพระพิมพ์สกุลช่างสุโขทัยที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะเขมรสมัยบายน หรือศิลปะแบบลพบุรี อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ เป็นพระพิมพ์เนื้อชินตะกั่วสนิมแดง เดิมจึงเรียกว่า "พระสนิมแดง"

สันนิษฐานกันว่าคำเรียกขานพระพิมพ์ที่มีพุทธลักษณะเช่นนี้ว่า "พระร่วง" มีที่มาจาก "พระร่วงโรจนฤทธิ์ศรีอินทราทิตย์ธรรมโมภาสมหาวชิราวุธปูชนียบพิตร" ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้ปฏิสังขรณ์ขึ้นจากพระพุทธรูปที่ชำรุดเหลือเพียงพระเศียร พระหัตถ์ และพระบาท ที่ทรงได้มาจากเมืองศรีสัชนาลัย และนำมาประดิษฐานไว้ที่วิหารด้านทิศเหนือขององค์พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม

เนื่องจากนักสะสมเห็นว่ามีพุทธลักษณะคล้ายคลึงกันกับพระสนิมแดง

พระลพบุรีหูยาน เป็นพระพิมพ์ที่พบในหลายพื้นที่ที่ปรากฏอิทธิพลอารยธรรมเขมรสมัยบายน แต่ที่มีชื่อเสียงและได้รับความนิยมมากที่สุด คงได้แก่ที่พบบริเวณจังหวัดลพบุรี โดยเฉพาะจากกรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ

ตามประวัติที่เล่าขานต่อกันมา พระลพบุรีหูยานวัดพระศรีรัตนมหาธาตุถูกลักลอบนำขึ้นจากกรุครั้งแรกเมื่อราว พ.ศ.๒๔๖๐ (บ้างก็ว่า พ.ศ.๒๔๕๐) และครั้งที่สอง เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๘

พุทธลักษณะเป็นพระพุทธรูปประทับนั่งปางมารวิชัยบนฐานบัว ครองจีวรเรียบแนบพระวรกายจนดูคล้ายพระองค์เปลือยเปล่า มีสังฆาฏิพาดผ่านพระอังสาซ้าย ชายสังฆาฏิยาวจรดพระนาภี ปลายตัดตรง พระพักตร์สี่เหลี่ยมอวบอูม แสดงอาการแย้มพระโอษฐ์เล็กน้อย พระกรรณยาวจรดพระอังสา อันเป็นที่มาของชื่อ "พระหูยาน" หรือ "พระลพบุรีหูยาน" พระเกศาถักหรือเกล้าเป็นเส้นตั้ง ที่เรียกว่า "ผมหวี" พระอุทรนูนเล็กน้อยแบบ "ท้องหมู"

จัดเป็นศิลปะเขมรสมัยหลังบายนหรือศิลปะแบบลพบุรี กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘

พระพุทธชินราชใบเสมา พบในกรุพระปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก ขึ้นจากกรุครั้งแรกเมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๔๓ (หรือ พ.ศ.๒๔๔๐) ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พุทธลักษณะเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ประทับนั่งขัดสมาธิราบบนฐานบัวคว่ำ - บัวหงายอยู่ภายในซุ้มเรือนแก้ว พิมพ์ทรงโดยรวมคล้ายใบเสมา ครองจีวรห่มเฉียง มีสังฆาฏิพาดผ่านพระอังสาซ้าย ปลายสังฆาฏิยาวจรดพระอุทร พระพักตร์รูปไข่หรือผลมะตูม ลักษณะก้มต่ำเล็กน้อย ปรากฏรายละเอียดของพระขนง พระเนตร พระนาสิก และพระโอษฐ์ชัดเจน เม็ดพระเกศาเรียงชิดกันจนดูคล้ายพระเกศาเกล้าแบบที่เรียกว่า "ผมหวี" พระเกตุมาลามีขนาดค่อนข้างใหญ่ พระรัศมีเป็นรูปคล้ายเปลวไฟ

ที่มีชื่อเรียก "พระพุทธชินราชใบเสมา" เนื่องจากนักสะสมส่วนใหญ่เชื่อว่าจำลองแบบมาจากพระพุทธชินราชที่ประดิษฐานเป็นประธานของวัด

อย่างไรก็ดี พระพิมพ์นี้น่าจะได้รับอิทธิพลมาจากพระพิมพ์ตระกูล "ยอดขุนพล" ในศิลปะแบบลพบุรี เนื่องจากมีพุทธลักษณะที่คล้ายคลึงกันมากกว่า โดยเฉพาะลักษณะของซุ้ม ฐานบัว ตลอดจนพิมพ์ทรง สันนิษฐานว่า พระพุทธชินราชใบเสมาคงสร้างขึ้นพร้อมหรือในเวลาไล่เลี่ยกันกับการสร้างพระปรางค์ประธานของวัด ในรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ

เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐

พระมเหศวร เป็นพระพิมพ์ที่ขึ้นจากกรุจากพระปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ สุพรรณบุรี เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๖ ร่วมกับพระผงสุพรรณและพระพิมพ์อื่นๆ

ลักษณะของพระมเหศวรเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ประทับนั่งขัดสมาธิราบ ครองจีวรห่มเฉียง ปรากฏสังฆาฏิยาวพาดผ่านพระอังสาซ้าย ปลายจรดพระอุทร บริเวณด้านข้างพระเศียรมีเส้นขีดในแนวนอนที่อาจใช้ในความหมายถึงกิ่งก้านโพธิ์ ศิลปะแบบอู่ทองหรืออยุธยาตอนต้น ราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐

พระมเหศวรมีทั้งที่เป็นพระพิมพ์เนื้อชินเงินและชินตะกั่ว เดิมเรียกว่า "พระสวน" เนื่องจากองค์พระมีสองด้าน ลักษณะหันพระเศียรขึ้น - ลงสลับข้างกัน ซึ่งคงเกิดจากการแก้ปัญหาการหักของพระศอซึ่งเป็นส่วนที่เปราะบาง โดยเมื่อนำมาประกบกัน พระศอจะอยู่ในตำแหน่งพระเพลาของพระอีกด้านหนึ่ง ทำให้ไม่แตกหักง่าย

สันนิษฐานว่า แม่พิมพ์ของพระมเหศวรมีลักษณะแบบเบ้าประกบ มีเดือยอยู่ตรงกลางระหว่างองค์พระ บางองค์จึงยังมีรอยก้านชนวนให้เห็นอยู่

สำหรับชื่อเรียก "พระมเหศวร" กล่าวกันว่ามาจากชื่อขุนโจรชื่อดังของเมืองสุพรรณในอดีต พร้อมทั้งแต่งเรื่องอิทธิปาฏิหาริย์ในด้านความคงกระพันประกอบ

คงเพื่อสร้างจุดสนใจให้แก่พระพิมพ์นี้

พระท่ากระดาน เป็นพระเนื้อตะกั่วสนิมแดง เดิมเรียกว่า "พระเกศบิดตาแดง" ถูกนำขึ้นจากกรุอย่างเป็นทางการครั้งแรกเมื่อราว พ.ศ.๒๔๖๔ ที่วัดท่ากระดาน (วัดกลาง) ตำบลท่ากระดาน อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี และต่อมายังได้พบขึ้นจากกรุอื่นๆ อีก โดยเฉพาะในพื้นที่อำเภอศรีสวัสดิ์ เช่น กรุถ้ำลั่นทม กรุวัดล่าง (กรุใต้) กรุวัดบน (กรุเหนือ)

พระที่ได้จากแหล่งดังกล่าวนิยมเรียกกันว่าพระกรุเก่า เนื่องจากเป็นพระที่ขุดได้ในช่วงแรกๆ ส่วนพระท่ากระดานที่ขุดพบระยะหลังในเขตอำเภอเมือง อำเภอลาดหญ้า อำเภอทองผาภูมิ เช่น กรุวัดเทวสังฆาราม (วัดเหนือ) กรุวัดเขาชนไก่ กรุเขาฤาษี เรียกว่าพระกรุใหม่

อย่างไรก็ดี ทั้งหมดล้วนเป็นพระพิมพ์ที่สร้างขึ้นในสมัยเดียวกัน

ลักษณะของพระท่ากระดานเป็นพระพิมพ์แบบนูนสูง หลังเรียบ ศิลปะแบบอู่ทองหรืออยุธยาตอนต้น ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙ - ๒๐ พุทธลักษณะประทับนั่งขัดสมาธิราบ ปางมารวิชัย ครองจีวรห่มเฉียง มีสังฆาฏิเป็นแถบค่อนข้างหนา ยาวจรดพระอุทร พระรัศมียาวเรียว แต่เนื่องจากสภาพการถูกทับถมในกรุเป็นเวลานานทำให้ปลายรัศมีชำรุดหรือคดงอ จึงทำให้มีลักษณะต่างๆ กัน สีพระพักตร์ค่อนข้างเคร่งขรึม อันเป็นเอกลักษณ์ของพระในยุคนี้ ส่วนฐานเป็นแบบที่เรียกว่าฐานสำเภา