วันศุกร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2554

03: พระสมเด็จวัดระฆัง โดย ดร.นนต์

Phrasomdej Wat Rakang in Academic Perspective
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐนนต์ สิปปภากุล
Asst. Prof. Dr.Natdhnond Sippaphakul
D.A. ( Arts and Culture Research)
dr.natdhnond@gmail.com, sippaphakul@hotmail.com, Tel. 08 5767 8008

         การศึกษาพระพิมพ์เนื้อผงสมเด็จวัดระฆังของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) นั้น จำเป็นจะต้องศึกษาให้ครบทุกด้านทั้งเรื่อง วัฒนธรรมและความเชื่อ (Culture and Belief) ประวัติศาสตร์ (History) มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ (Humanities and Social Sciences) พุทธศิลป์ (Amulet Art) วิทยาศาสตร์ (Science) และพลังพุทธานุภาพ (Power of mind) เพื่อให้เข้าใจและมีความรู้ที่ถูกต้อง เปิดใจให้กว้าง อย่าเชื่อจากคำบอกเล่า อย่าเชื่อเซียน อย่าเชื่อหนังสือเล่มหนึ่งเล่มใด หรือแม้กระทั่งบทความของผู้เขียนที่ท่านกำลังอ่านอยู่นี่ก็ตาม เพราะหากมีองค์ความรู้ที่สืบค้นได้ใหม่ มันจะมาทดแทนความรู้เก่าในภายหลัง นี่คือความจริงทางด้านวิชาการที่สากลยอมรับ บทความนี้จึงเป็นการเติมเต็มช่องว่างที่ขาดหายไป แม้จะยังมิใช่ข้อสรุป แต่ก็พอจะเป็นแนวทางสำหรับผู้ศึกษามือใหม่ได้เข้าใจมากขึ้น
อนึ่ง ผู้เขียนขอทำความเข้าใจกับผู้อ่านให้ตรงกันว่า การศึกษาพระสมเด็จวัดระฆังนั้น เป็นการศึกษาจากสิ่งของที่เป็นรูปธรรมคือ ตัวขององค์พระพิมพ์ เพื่อไปอธิบายสิ่งที่เป็นนามธรรมคือ ความเชื่อว่าแท้และศักดิ์สิทธิ์ มันจึงเป็นการยากที่จะสรุปว่า ข้อเขียนของผู้ใดถูกต้องและน่าเชื่อถือมากที่สุด เพราะแม้แต่ข้อเขียนของเซียนโบราณที่ผ่านมา ก็เชื่อถือได้เป็นบางส่วน เนื่องจากเป็นเพียงการสรุปความคิดเห็นเท่าที่เขาเคยมีและประสบมาเท่านั้น เหตุใดผู้คนในยุคปัจจุบัน จึงยังคงเชื่อแค่คำบอกเล่าหรือจากภาพเก่าๆ ที่ตีพิมพ์ซ้ำซาก แถมบางคนยังจำกัดความว่า พระสมเด็จมีอยู่แค่นั้นแค่นี้ ทั้งที่จริงยังมีพระสมเด็จวัดระฆังที่อยู่กับชาวบ้านหรือผู้มีบุญ (ขอย้ำผู้มีบุญ) อีกจำนวนมาก มีหลายพิมพ์ หลายเนื้อ หลายสภาพ แถมยังมีความสมบูรณ์และสวยงามมากอีกด้วย อย่าลืมว่า แม้แต่เซียนโบราณเองก็เกิดไม่ทันองค์สมเด็จโต ฉะนั้น ผู้เขียนจึงขอเพิ่มเติมแนวทางการศึกษาดังต่อไปนี้
ด้านวัฒนธรรมและความเชื่อ
การศึกษาด้านวัฒนธรรมได้แก่ ความเชื่อ ความศรัทธาในพระพุทธศาสนา และประเพณีนิยมของผู้สร้าง จุลทัศน์ พยาฆรานนท์ (2550) ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ศิลป์และโบราณคดีของไทย ได้บรรยายในชั่วโมงเรียนระดับปริญญาเอกของผู้เขียน เกี่ยวกับสารัตถะในการสร้างศาสนศิลป์ว่า 1) สร้างเพื่อประเพณีนิยม ค่านิยม 2) สร้างเพื่อเป็นสิ่งชักจูงให้คนศรัทธาต่อพระพุทธศาสนา 3) เพื่อเป็นสื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจต่อพระพุทธธรรม 4) เพื่อเป็นสื่อในการจรรโลงจิตใจทางอุดมคติ ความจริง ความดี ความงาม เป็นอุดมคติคำสอนของพระพุทธเจ้า ต้องสว่าง สงบ สะอาด 5) เป็นสื่อในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างพระสงฆ์และศาสนิกชน ดังจะเห็นได้จากประเพณีการสร้างพระพิมพ์ในยุคต่างๆ เช่น ใน สมัยทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ 11-16 นิยมสร้างพระพิมพ์ดินเผาเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ต่อมาใน สมัยศรีวิชัย ราวพุทธศตวรรษที่ 13-18 มีการสร้างพระพิมพ์ดินดิบ สันนิษฐานว่า คงสร้างขึ้นตามประเพณีนิยมในลัทธิมหายาน เมื่อมีการเผาศพพระเถระที่มรณภาพหรือบุคคลที่ตายแล้ว เอาอัฐิธาตุคลุกเคล้ากับดินแล้วพิมพ์ออกมาเป็นพระพุทธรูปหรือพระโพธิสัตว์ไว้เป็นพระพิมพ์ดินดิบ และไม่นิยมนำมาเผาซ้ำอีกเพราะถือว่าได้เผาแล้ว ล่วงมาถึงสมัยอยุธยาก็ยังคงสร้างพระพิมพ์เพื่อพุทธศาสนาหรือเพื่อการทำบุญสิ่งที่ยืนยันให้เห็นว่า เป็นเรื่องของการทำบุญได้ดีก็คือ มีกล่าวในศิลาจารึกในสมัยอยุธยาว่า สร้างพระเท่าจำนวนวันเกิดแล้วฝังในเจดีย์เป็นต้น (ศรีศักร วัลลิโภดม. 2537: 79)นอกจากนั้น ยังมีพระพิมพ์ที่บรรจุกรุต่างๆ อีกมากมาย เช่น พระตระกูลลำพูน สุโขทัย กำแพงเพชร พิษณุโลก ลพบุรี สุพรรณบุรี อยุธยา มหาสารคาม ฯลฯ ล้วนมีคตินิยมในการสร้างพระเพื่อเป็นการสืบทอดพระพุทธศาสนาทั้งสิ้น
ส่วนการสร้างพระพิมพ์ในยุครัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะการสร้างพระพิมพ์เนื้อผงของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) นั้น มีวัตถุประสงค์ในการสร้างก็เพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนาเป็นหลัก มิใช่สร้างเพื่อการค้าหรือเรี่ยไรเงินแต่อย่างใด ดังจะเห็นได้จากการสร้างพระพิมพ์เพื่อบรรจุกรุในสถานที่ต่างๆ เช่น กรุวัดระฆัง กรุวัดชีปะขาว กรุวัดตะไกร กรุวัดบางขุนพรหม กรุวัดเกศไชโย กรุพระธาตุพนมจำลอง(วังหน้า) ฯลฯ แต่ละแห่งน่าจะถูกสร้างให้ได้จำนวน 84,000 องค์ตามพระธรรมขันธ์ มูลเหตุที่เจ้าประคุณสมเด็จฯ สร้างพระพิมพ์ขึ้นนั้น สืบเนื่องมาแต่ท่านได้ปรารภถึงพระมหาเถระในปางก่อนว่า มักสร้างพระพิมพ์บรรจุไว้ในปูชนียวัตถุสถาน มีพระเจดีย์เป็นต้น เพื่อเป็นการสืบต่อพระพุทธศาสนา โดยถือว่าเมื่อต่อไปข้างหน้าช้านานถึงพระเจดีย์วิหารจะสูญไป ใครไปขุดพบพระพิมพ์ก็จะได้เห็นพระพุทธรูป รู้ว่าพระพุทธเจ้าเคยมีเคยได้โปรดสัตว์ในโลกนี้ ชวนให้ระลึกถึงพระพุทธคุณต่อไป ท่านปรารถนาจะประพฤติตามคตินั้น จึงได้สร้างพระพิมพ์ขึ้นจำนวนมาก (พระครูปลัดสมคิด สิริวฑฒโน. 2550:66)
นอกจากสมเด็จโตจะได้สร้างพระพิมพ์เพื่อบรรจุกรุต่างๆดังกล่าวแล้ว ท่านยังสร้างพระพิมพ์ขึ้นเนื่องในโอกาสต่างๆ รวมทั้งพระสมเด็จวังหน้าหรือสมเด็จเบญจรงค์ ปี พ.ศ.2412 ที่นำมาบรรจุกรุในวัดพระแก้วในภายหลังอีกเป็นจำนวนมาก (มิใช่มีแค่สองพันกว่าองค์ตามที่กลุ่มเซียนสร้างวาทกรรมไว้) เพื่อไว้แจกจ่ายกับผู้มีบุญ ซึ่งต่อมาพระสมเด็จที่สร้างไว้ รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระสมเด็จชนิดปรกเมล็ดโพธิ์ ที่เรียกกันว่า สมเด็จเขียว ให้กับประชาชนในช่วงเกิดโรคอหิวาต์ระบาด หรือบางส่วนนำออกมาแจกจ่ายในช่วงสงคราม ก็เพื่อให้ผู้ที่ได้ครอบครองได้พ้นจากเภทภัยต่างๆ หรือในช่วงสงบก็ให้ระลึกถึงคุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นต้น แต่กลุ่มบุคคลในภายหลัง ได้นำเอาพระพิมพ์ของท่านมาแปรสภาพเป็นสินค้า รวมทั้งมีการปลอมแปลง สร้างวาทกรรมบิดเบือนความจริง บอกพระแท้เป็นพระปลอม สร้างพระปลอมเป็นพระแท้ และปิดกั้นผู้อื่น เพื่อสร้างความร่ำรวยให้กับกลุ่มตน จึงกลายเป็นประเพณีนิยมในการสร้างพระต่างๆ ตามมามากมายในปัจจุบัน มิหนำซ้ำการที่ตัวเองรู้ว่า พระองค์นั้นแท้ แต่กลับไปบอกว่าเป็นพระปลอม ก็เท่ากับเป็นการไปดูถูกเหยียดหยามหรือลดค่าความเป็นพระอันบริสุทธิ์ของสมเด็จโต “ลงไปต่ำสุด” นั่นเป็นเพราะเงินหรือกิเลสได้เข้าครอบงำกับบุคคลเหล่านั้น ผลที่ตามมาก็คือ พวกเขาต้องรอวันที่แผ่นดินจะเอาคืน

พระสมเด็จวัดระฆังเนื้อเขียวชนิดปรกเมล็ดโพธิ์

ในช่วงปัจจุบันนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า เริ่มมีพระสมเด็จพิมพ์ต่างๆ หลายเนื้อ หลายสภาพ ปรากฏขึ้นมามาก โดยเฉพาะกับผู้ที่มีบุญหรือผู้ที่ปฏิบัติธรรม นั่นอาจเป็นเพราะว่า ถึงช่วงเวลาที่องค์สมเด็จพระพุฒาจารย์โตท่านได้กำหนดไว้ ผู้มีบุญและผู้ศรัทธาด้วยความบริสุทธิ์ใจ ก็มักจะได้เห็นและได้ครอบครองพระสมเด็จด้วยวิธีแปลกๆ อย่างไม่คาดฝัน โดยเฉพาะผู้ที่สวดพระคาถาชินบัญชรมานาน ผู้เขียนเคยสนทนากับผู้มีญาณทั้งหลาย ทั้งพระอริยสงฆ์ ผู้บรรลุธรรมชั้นสูง ผู้มีองค์ใน ล้วนกล่าวตรงกันว่า นับจากปี พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา ถือเป็นช่วงกึ่งกลางของพุทธศาสนาที่บรรดาเทพทั้งหลาย ต้องลงมาดูแลพระพุทธศาสนาต่อจากพระสงฆ์ ตามที่อาสาไว้เมื่อครั้งพุทธกาล และยังกล่าวกันว่า ในช่วงนับจากปี พ.ศ. 2555-2560 จะเป็นช่วงที่เกิดวิกฤตหนักสุดของมวลมนุษยชาติ ทั้งการรบราฆ่าฟันกันระหว่างผู้ที่มีจิตหยาบ ชั่ว สงครามกลางเมือง สงครามระหว่างประเทศ วิกฤตเศรษฐกิจ วิกฤตการเมือง ภาวะโลกร้อน ภัยธรรมชาติ น้ำท่วมโลก และโรคแปลกๆ จะมีผู้คนล้มตายจำนวนมาก จะเกิดการโกลาหล เงินจะไม่มีค่า ซึ่งความวุ่นวายทั้งหมด ล้วนเกิดจากน้ำมือของมนุษย์ใจหยาบทั้งสิ้น เค้าลางแห่งหายนะก็เริ่มปรากฏให้เห็นเป็นประจักษ์กันบ้างแล้ว
ในพุทธทำนายบางส่วนและคำทำนายขององค์อภิญญาต่างๆ ยังได้กล่าวต่อไปว่า ช่วงกึ่งกลางพระพุทธศาสนา นับต่อนี้ไปไม่กี่ปี จะเป็นช่วงเวลาของการคัดเซ็นมนุษย์ ผู้ที่มีจิตอยู่ในศีลในธรรมหรือผู้มีบุญจะถูกคัดเลือกให้รอดพ้นจากหายนะต่างๆ พระสงฆ์บางส่วนไม่สามารถพึ่งได้ ดังนั้น ผู้มีบุญจะได้รับพระสมเด็จหรือของศักดิ์สิทธิ์เช่น พระกรุที่กำลังผุดขึ้นมาจากใต้พื้นดินในสถานที่ต่างๆ จำนวนมาก รวมทั้งผู้มีบุญจะเห็นลูกแก้วพญานาค เพชรนาคา ขึ้นมาจากดิน จากถ้ำ บางครั้งร่วงหล่นลงมาจากฟ้า ซึ่งกล่าวกันว่า นับจากช่วงเวลา 250 ปีต่อแต่นี้ไป เป็นช่วงของเหล่านาคราชจะเป็นผู้ดูแลพระพุทธศาสนา (ผู้มีบุญและศรัทธาเท่านั้น จึงจะเห็นปรากฏการณ์นี้) ผู้มีใจหยาบจะไม่เชื่อและในที่สุดก็จะถูกภัยธรรมชาติและพวกเดียวกันทำลายซึ่งกันและกันจนหมดไป ที่กล่าวมานี้ มันเป็นเรื่องอจินไตย ที่สามารถรับรู้ได้เฉพาะตน หากท่านเป็นผู้ปฏิบัติและอยู่ในศีลในธรรม ท่านก็ไม่ต้องวิตกกังวล อะไรจะเกิดก็ให้มันเกิด
อนึ่ง ณ ปัจจุบันนี้ เป็นที่สังเกตว่า ชาวต่างชาติ โดยเฉพาะคนจีน ไต้หวัน ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย กำลังเสาะแสวงหาพระสมเด็จและวัตถุมงคลจำนวนมาก เพราะประชาชนบางส่วนในแต่ละประเทศดังกล่าว เป็นผู้ปฏิบัติภาวนาสมาธิ ถือศีล กินเจ พวกเขาจึงสามารถล่วงรู้ได้ว่า จะมีสิ่งใดเกิดขึ้นบนโลกใบนี้ ส่วนผู้ที่มีจิตใจหยาบจะไหลไปรวมกันเป็นกลุ่มๆ ซึ่งจะง่ายต่อการถูกกำจัดด้วยวิบากกรรมของพวกเขาเอง ไม่มีสิ่งใดจะช่วยพวกเขาได้ แล้วท่านจะเลือกอยู่ในกลุ่มคนประเภทใด (โปรดบันทึกบทเขียนตอนนี้ไว้ในความทรงจำของท่าน เพื่อจะเป็นข้อพิสูจน์ในภายหลัง)
ผู้เขียนขอยกตัวอย่างเพิ่มเติมจากบทความของ ดร.ณัฐชัย เลิศรัตนพล เรื่อง “ภัยพิบัติจากพระเบื้องบน” จากบล็อก http://dr-natachai.blogspot.com/ ดังข้อความต่อไปนี้
เรื่องภัยพิบัติ มีผู้สนใจกันมากว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด จะเกิดวงกว้างขนาดไหน? คนเราถ้าหากยังมีความอยากรู้ อยากทราบ อยากเห็นอยู่เป็นนิด ย่อมต้องพยายามศึกษา ไม่เว้นแม้นแต่ตัวผู้เขียน เรื่องภัยพิบัติผู้เขียนพยายามสอบถามขอพระเมตตาจากเบื้องบนหลายต่อหลายครั้ง ไม่ได้รับข้อมูลที่ละเอียดมากนัก สาเหตุใหญ่เกิดจาก พระเบื้องบน...ได้รับการร้องขอ...จากผู้มีบุญญาธิการต่างๆ และพระเบื้องบนได้ปัดเป่าภัยพิบัติขยับไปตลอดเวลา จากภัยพิบัติที่ควรจะเกิดขึ้นแล้วในอดีต ได้รับการปัดเป่าขยับขยายระยะเวลาออกไป ทำให้หลายสำนักที่ฟันธงว่าจะเกิดวันนั้น เดือนนี้ ปีโน้น ต่างธงหักกันเป็นทิวแถว
ภัยพิบัติเท่าที่เคยสอบถามและเข้าใจ จะเกิดขึ้นทุกปี มากน้อยไม่แน่นอน แต่จะนักขึ้นหนักขึ้น และข้อมูลที่ได้รับทราบจากพระเบื้องบน ณ วันที่14 กันยายน 2554...ให้ระวังภัยพิบัติที่ได้รับปัดเป่าจากอดีตมาไว้ในปี พ.ศ.2559 เป็นภัยพิบัติเฉพาะในประเทศไทยจะมีคนตายเฉียด 10,000 คน แต่ถ้าหากถึงเวลาใกล้ๆ ผู้เขียนคาดว่าอาจจะมีการปัดเป่าไม่ให้เกิดในปีนี้ก็เป็นไปได้ แต่ ณ วันนี้พระเบื้องบน..."ปัดมาไว้ในปีนี้" ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตเอาไว้ หากผู้มีบุญญาธิการของแผ่นดินยังไม่สิ้นชีวิตเมื่อถึงปี 2559 ผู้เขียนคาดว่าน่าจะได้รับพระเมตตาปัดเป่าไม่ให้เกิดภัยพิบัติที่มีความรุนแรงในปี พ.ศ.2559 ยกเว้นท่านฯไม่อยู่ ย่อมมีโอกาสเกิดขึ้นได้
ภัยพิบัติใหญ่ที่มีคนทำนายกันมาในอดีต เป็นภัยพิบัติของมวลมนุษย์โลก ไม่เว้นแม้นแต่ประเทศไทย ผู้เขียนได้รับทราบข้อมูลจากการสอบถามพระเบื้องบนอีกเช่นกันว่า ณ วันนี้ 14 กันยายน พ.ศ.2554 ภัยพิบัติที่น่าจะเกิดขึ้นแล้วในอดีตได้รับพระเมตตาจากพระเบื้องบนปัดเป่ามาไว้ในปี พ.ศ.2617 ซึ่งจะเป็นภัยพิบัติที่เกิดขึ้นทุกจังหวัดของประเทศไทย ในอดีตมีผู้ทำนายกันมากมาย ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วมโลก ภูเขาไฟระเบิด แผ่นดินไหว เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ผู้เขียนก็อยากรู้อยากทราบอีกเช่นเคย แต่ผู้เขียนได้สอบถามภูมิภาคใดของประเทศไทยที่ปลอดภัยที่สุด และจังหวัดใดของภาคนั้นๆ ปลอดภัยระดับใด และมีจังหวัดใดไม่ควรจะอยู่ แต่ถ้าหากถึงเวลานั้นหรือใกล้ๆจะถึง ถ้าหากพระเบื้องบนท่านปัดเป่าออกไปอีก ความทุกข์ยากของมนุษย์และการล้มตายของมนุษย์อย่างมากมายก็จะได้รับการขยับขยายไปในปี พ.ศ.อื่น แต่สรุป ณ เวลานี้พระเบื้องบน...ปัดมาไว้ในปี พ.ศ. 2616 ใครมีอายุเยอะก็คงไม่ทันได้พบ แต่ถ้าอายุยังละอ่อนก็ย่อมมีสิทธิ์มีโอกาสที่จะได้พบกับเหตุการณ์ภัยพิบัติของมวลมนุษย์โลกทั้งหลาย
สิ่งที่จะช่วยได้ หากไม่ถึงคราวตาย วัตถุมงคลของวังฯ ที่สร้างขึ้นในยุคสมัย ร.3 - ร.5 มีมากมายในตลาด ไม่เชื่อไม่ว่ากัน "หัดเก็บไว้ให้ลูกหลาน ไม่เสียหายอะไร" เก็บทั้งทีผู้เขียนแนะนำให้เก็บความแรงของพุทธคุณประเภท"พลังไร้ขีดจำกัด" แต่ถ้าหากหาไม่ได้ก็ให้หาพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งจะมีรัศมีป้องกันภัยพิบัติที่ 10 กิโลเมตร ก็ยังดีกว่าไม่มี
ทำไมต้องพลังไร้ขีดจำกัด และทำไมมีรัศมีป้องกันภัยพิบัติที่ 10กิโลเมตรถึงยังไม่เพียงพอ ยกตัวอย่างง่ายๆ เพื่อให้เห็นภาพ หากรัศมี 10กิโลเมตร ได้รับการคุ้มครองเหมือนกับติดอยู่บนเกาะที่มีน้ำล้อมรอบรัศมีของพื้นดิน 10 กิโลเมตร ย่อมมีโอกาสอดอยากหรือหิวตาย แต่ถ้าหากเป็นพลังไร้ขีดจำกัด รัศมีป้องกันภัยพิบัติก็เป็นลักษณะไร้ขีดจำกัด นั่นย่อมหมายถึงมีชีวิตอาศัยอยู่บนผืนแผ่นดินใหญ่ ไม่ใช่ติดเกาะที่จำกัดพื้นที่ แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น ก็ขึ้นอยู่กับบุญวาสนาที่สร้างสั่งสมมาว่าถึงที่ตายหรือไม่ ถ้าถึงที่ตาย พระ...ไม่สงเคราะห์ แต่ถ้าไม่ถึงที่ตาย ยังไงผู้ที่มีวัตถุมงคลดังกล่าวย่อมมีพระคุ้มครอง จะมีมาร...หรือผู้หนึ่งผู้ใดมาทำร้ายให้ถึงแก่ชีวิตย่อมเป็นไปไม่ได้
ภัยพิบัติใหญ่ที่ได้รับการ ปัดเป่ามาไว้ในปี พ.ศ. 2617 ยกเว้นพระเบื้องบน...เมตตาสงเคราะห์ปัดเป่าออกไปในปีอื่น พื้นที่ประเทศไทย ที่เกิดภัยพิบัติ โดยดูตาม % ความปลอดภัยที่เกิดภัยพิบัติ ภาคเหนือเป็นภาคที่มีจังหวัดปลอดภัยที่สุด รองลงมาภาคที่มีจังหวัดมีความปลอดภัยอันดับ 2 ภาคตะวันออก อันดับ 3 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน มีจังหวัดที่มีความปลอดภัยมากกว่าตอนล่าง อันดับ 4 ภาคตะวันตก ส่วนภาคกลางและภาคใต้ เป็นภาคที่มีภัยพิบัติอันตรายมากที่สุดไม่แนะนำ (ณัฐชัย เลิศรัตนพล. 2554:ออนไลน์)
ด้านประวัติศาสตร์
การศึกษาด้านประวัติศาสตร์ได้แก่ การศึกษาประวัติของผู้สร้าง เพื่อให้สอดคล้องกับช่วงเวลาในการสร้างพระให้ตรงกับเหตุการณ์ความเป็นจริงในแง่ประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้นๆ ยกตัวอย่างเช่น มีบางคนพยายามนำเอาพระสมเด็จที่ด้านหลังมีเหรียญรัชกาลที่ 5 ติดอยู่ด้านหลังว่า เป็นพระที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) สร้างและอธิษฐานจิตเอง ทั้งที่ความเป็นจริงนั้น เหรียญรัชกาลที่ 5 ที่ติดอยู่ด้านหลังนั้น มีพระชันษามากแล้ว (มีหนวดและพระพักตร์แก่) หรือจะเป็นเหรียญพระพักตร์หนุ่มก็ตาม แต่หากศึกษาประวัติการสร้างเหรียญกษาปณ์ที่เป็นพระบรมฉายาลักษณ์ของพระเจ้าแผ่นดินนั้น เริ่มสร้างกันครั้งแรกในปี พ.ศ. 2517 จึงเป็นความขัดแย้งกับความเป็นจริง เพราะสมเด็จโตมรณภาพในขณะที่รัชกาลที่ 5 ยังทรงพระเยาว์ (19 ชันษา) และเหรียญกษาปณ์นั้น สร้างครั้งแรกหลังจากสมเด็จโตมรณภาพถึงสองปี เป็นต้น ซึ่งผู้เขียนมิได้โต้แย้งว่า พระนั้นไม่แท้ แต่ชี้ให้เห็นว่า พระนั้นแท้แต่ไม่ทันสมเด็จโต จึงเป็นพระที่สร้างในยุคหลังนั่นเอง
อีกตัวอย่างหนึ่ง มีบางคนสงสัยว่า พระสมเด็จที่อยู่นอกกลุ่มนิยมของเซียน ถูกสร้างขึ้นมาเมื่อ 80 ปีที่แล้ว ขอให้ผู้อ่านโปรดใช้พิจารณาว่า เมื่อ 80 ปีที่แล้ว วงการพระสมเด็จยังไม่ได้โด่งดัง ยังไม่มีแผงพระ ยังไม่มีสื่อโฆษณาใดๆ และยังไม่มีกลุ่มปั่นราคาให้แพงเฉกเช่นปัจจุบัน แล้วมีเหตุผลอันใดที่จะทำให้คนในยุคสมัยนั้น สร้างพระปลอมขึ้นมาเป็นจำนวนมากนับแสนๆองค์ ครั้นจะเชื่อว่า เป็นพระที่สร้างขึ้นมาเมื่อไม่กี่ปีก็ไม่ได้ เพราะพระมีความเก่า(แบบสมบูรณ์แต่ดูเหมือนเป็นพระใหม่) มีมวลสารครบ และมีที่มาอันบริสุทธิ์จากชาวบ้านและผู้มีบุญ รวมทั้งมีพลังที่สามารถตรวจสอบจากผู้มีญาณได้ มีการตรวจสอบทางด้านวิทยาศาสตร์และทำการวิจัยมาดีแล้ว และมีธรรมชาติของพระแท้ที่หนีไม่ออก แถมยังมีความสวยงามและสมบูรณ์มากอีกด้วย เมื่อไม่มีใครเกิดทัน 80 ปีที่แล้ว และไม่มีหลักฐานอะไรมายืนยัน จึงนับเป็นความเชื่อหรือความสงสัยที่เลื่อนลอย ฉะนั้น การศึกษาช่วงเวลาหรือประวัติศาสตร์ จึงเป็นความจริงที่ไม่สามารถบิดเบือนได้
ประวัติของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)
จากการศึกษาประวัติของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) จากเอกสารต่างๆ พอสรุปได้ดังนี้ สมเด็จพระพุฒาจารย์ นามเดิม โต นามฉายาว่า พรหมรังสี เกิดในรัชกาลที่ 1 ณ บ้านตำบลไก่จ้น (ท่าหลวง) อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 5 ขึ้น 12 ค่ำ ปีวอก จ.ศ. 1150 ตรงกับวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2331 เวลาพระบิณฑบาต มารดาชื่อ ละมุด (บางคนบอกว่าชื่อ เกศ) เดิมเป็นชาวตำบลท่าอิฐ อำเภอบ้านโพธิ์ (อำเภอเมือง) จังหวัดอุตรดิตถ์ บิดาไม่ปรากฏชื่อ (บางตำราบอกว่าบิดาคือ ร. 1บางตำราบอกว่า ร.2) ขณะที่ท่านเป็นทารกนั้น ครอบครัวได้ย้ายภูมิลำเนาไปอยู่ที่ตำบลไชโย จังหวัดอ่างทอง พอท่านยืนนั่งได้ ครอบครัวจึงได้ย้ายมาอยู่ที่ตำบลบางขุนพรหม จังหวัดพระนคร กล่าวกันว่า ขณะที่ท่านวัยเยาว์นั้น ท่านได้ศึกษาอักขรสมัยในสำนักเจ้าคุณอรัญญิก (ด้วง) วัดอินทรวิหาร ครั้นอายุ 12 ปี (พ.ศ. 2342) ได้บรรพชาเป็นสามเณร โดยเจ้าคุณบวรวิริยะเถระ (อยู่) วัดสังเวชวิศยาราม บางลำพู เป็นพระอุปัชฌาย์ และได้ย้ายมาอยู่วัดระฆังเพื่อศึกษาพระปริยัติธรรมตั้งแต่บัดนั้น ขณะที่ท่านยังเป็นสามเณรอยู่นั้น ปรากฏว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อครั้งยังดำรงพระยศเป็นสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ทรงโปรดปรานมาก จึงทรงรับไว้ในพระราชูปถัมภ์ ครั้นอายุครบอุปสมบท พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้บวชเป็นนาคหลวงที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (บางท่านบอกว่า บวชที่วัดระฆังโฆสิตาราม) เมื่อปีเถาะ พ.ศ. 2350 โดยมีสมเด็จพระสังฆราชสุก วัดมหาธาตุเป็นพระอุปัชฌาย์

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)
การศึกษาเบื้องต้นของสมเด็จโตนั้น นอกจากศึกษาคันถธุระ (พระปริยัติธรรม) ที่มีความเชี่ยวชาญดีแล้ว ท่านยังได้ศึกษาวิปัสสนาธุระอย่างจริงจังอีกด้วย จะเห็นได้ว่าในช่วงรัชกาลที่ 2 การศึกษาวิปัสสนาธุระมีความเจริญรุ่งเรืองมาก ด้วยปรากฏในจดหมายเหตุว่าเมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. 2364 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดฯให้อาราธนาพระสงฆ์ผู้ทรงคุณในทางวิปัสสนาธุระ ทั้งในกรุงและหัวเมืองปักษ์ใต้ ฝ่ายเหนือ มารับพระราชทานบริขารอันควรแก่สมณะฝ่ายอรัญวาสี แล้วแต่งตั้งเป็นพระอาจารย์บอกพระกรรมฐานแก่พระสงฆ์สามเณรและคฤหัสถ์ รวม 73 รูป (พระครูปลัดสมคิด สิริวฑฒโน.2550: 65) จึงสันนิษฐานว่า สมเด็จโตคงได้ศึกษาจากหลายสำนักเช่น สำนักเจ้าคุณอรัญญิก (แก้ว) วัดอินทรวิหาร และสำนักเจ้าคุณบวรวิริยะเถระ(อยู่) วัดสังเวชวิศยาราม รวมทั้งได้เรียนจากพระอาจารย์แสง วัดมณีชลขันธ์ ลพบุรีด้วย พระอาจารย์แสงรูปนี้กล่าวกันว่า เป็นผู้ทรงคุณในทางวิทยาคม สามารถย่นเวลาและหนทางได้ นอกจากนั้น ท่านยังได้ศึกษาวิปัสสนากรรมฐานชั้นสูงและการสร้างพระเนื้อผงกับสมเด็จพระสังฆราช (สุกไก่เถื่อน) และสันนิษฐานว่า สมเด็จโตได้ร่วมปลุกเสกพระเนื้อผงนั้นด้วย
อย่างไรก็ตาม สมเด็จโตมีอัธยาศัยไม่ปรารถนายศศักดิ์ แม้จะแตกฉานในพระไตรปิฎก และเก่งด้านพระปริยัติธรรม แต่ก็ไม่เข้าสอบเป็นพระเปรียญ แม้แต่รัชกาลที่ 3 จะทรงตั้งเป็นพระราชาคณะ ท่านก็ทูลขอเสีย และมักหลบออกไปธุดงค์ตามหัวเมืองต่างๆ รวมทั้งไปไกลถึงลาวและเขมรก็มี แต่ต่อมาในช่วงรัชกาลที่ 4 ท่านจึงยอมรับเอาสมณศักดิ์ดังที่ปรากฏคือ ปี พ.ศ. 2395 เป็นพระธรรมกิติ ต่อมาอีกสองปีคือ พ.ศ. 2397 เป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่ที่พระเทพกวี ครั้นถึงปีชวด พ.ศ. 2407 ได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ จนกระทั่งท่านได้มรณภาพในคืนวันเสาร์ แรม 2 ค่ำ เดือนแปด ปีวอก จ.ศ. 1234ตรงกับวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2415 เวลา 2 ยาม คำนวณอายุได้ 85 ปี (ประวัติอย่างละเอียด โปรดศึกษาในหนังสือที่ระลึกงานถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พุทธศักราช 2550 และเล่มอื่นๆ)
จากการศึกษาประวัติของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ของอาจารย์สุชาติ มั่นคงพิทักษ์กุล (2552) รวมทั้งหลักฐานอื่นๆ ที่ผู้เขียนค้นพบ สามารถเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ต่างๆ ตามหนังสือและบทบันทึกของผู้ที่เกี่ยวข้อง สามารถแบ่งช่วงเวลาของการสร้างพระพิมพ์สมเด็จ ออกเป็น 5 ช่วง พอสรุปได้ดังนี้
ช่วงที่ 1 พ.ศ. 2361 2385 ในช่วงของรัชกาลที่ 2 และ 3 สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) อายุประมาณ 30-54 ปี ถือเป็นช่วงที่ท่านเริ่มมีชื่อเสียงในด้านการเทศน์ ในช่วงปี พ.ศ. 2363-2365 สมเด็จโตได้มีโอกาสร่ำเรียนวิปัสสนากรรมฐานชั้นสูง รวมทั้งการออกแบบและมวลสารในการสร้างพระพิมพ์กับสมเด็จพระสังฆราช (สุกไก่เถื่อน)
ช่วงที่ 2 พ.ศ. 2385 2393 ในช่วงของรัชกาลที่ 3 สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) อายุ 54-62 ปี หลังจากได้กลับไปจัดงานศพให้โยมมารดา ตอนอายุ 54 ปี จากนั้นท่านใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการธุดงค์ ทั้งทางเหนือ ลาว และเขมร ต่อมาได้สร้างพระนอนที่วัดขุนอินทร์ประมูล อ.ป่าโมกข์ จังหวัดอ่างทอง ในช่วงปี พ.ศ. 2386 ได้มีการสร้างพระสมเด็จพิมพ์เกศไชโย เนื่องจากพบหลักฐานคือ มีพระสมเด็จพิมพ์เกศไชโยถูกบรรจุอยู่ในฐานรูปหล่อองค์เหมือนสมเด็จโต รวมทั้งได้สร้างพระพุทธรูปยืน ปางอุ้มบาตร วัดกลางคลองข่อยตำบลคลองข่อย อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ประมาณปี พ.ศ. 2390 และ ในช่วงเวลาใกล้กัน ได้สร้างพระเจดีย์นอนที่หลังโบสถ์วัดละครทำ ตำบลบ้านช่างหล่อ จังหวัดธนบุรี ปัจจุบันหักพังหมดแล้ว
         ช่วงที่ 3 พ.ศ. 2394 - 2407 ในช่วงต้นรัชกาลที่ 4 สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) อายุ 63-76 ปี เป็นช่วงเวลาที่ท่านได้รับตำแหน่งราชาคณะตั้งแต่ที่ พระธรรมกิติ (พ.ศ. 2395) พระเทพกระวี (พ.ศ. 2397) และสมเด็จพระพุฒาจารย์ (พ.ศ. 2407) ในช่วงเวลานี้ น่าจะมีการสร้างพระสมเด็จ เนื่องในโอกาสฉลองเลื่อนสมณศักดิ์ตามลำดับดังกล่าวด้วย นอกจากนั้น ยังมีเหตุการณ์ทางด้านการเมืองเช่น การขึ้นครองราชย์ของรัชกาลที่ 4 และสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ในปี พ.ศ. 2394 และเหตุการณ์พระราชสมภพของรัชกาลที่ 5 ในปี พ.ศ. 2396 ต่อมาท่านได้สร้างพระนั่งโต ที่วัดเกศไชโย จังหวัดอ่างทอง ในปี พ.ศ. 2406-2407 รวมทั้งได้สร้างพระสมเด็จ จำนวน 84,000 องค์ มีพิมพ์ 5 ชั้น 6 ชั้น 7 ชั้น ฯลฯ เพื่อบรรจุไว้ในกรุวัดดังกล่าวด้วย ช่วงนี้หลวงวิจารณ์เจียรนัย ซึ่งเป็นหนึ่งในช่างของกรมช่างสิบหมู่ เริ่มเข้ามามีบทบาทในการออกแบบพิมพ์พระสมเด็จ โดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลดาวัลย์ กรมหมื่นภูมินทรภักดี เจ้ากรมช่างสิบหมู่ รวมทั้งมีความผูกพันกันกับเจ้าพระยาภานุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค) เจ้ากรมท่า และกลุ่มวังหน้า ในการสร้างพระสมเด็จและพระพิมพ์ต่างๆ ถวายแด่องค์หลวงปู่โตเพื่ออธิษฐานจิต และที่เป็นพิเศษมากในปี พ.ศ. 2407 ก็คือ เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ได้อัญเชิญเหล็กไหลไพลดำเสด็จมาทางอากาศ บริเวณด้านหน้าวัดระฆังใกล้ริมแม่น้ำเจ้าพระยา และนำมาทำเป็นสร้อยประคำเหล็กไหลไพลดำจำนวนหนึ่ง เศษจากการกลึงลูกประคำได้นำไปเป็นส่วนผสมในพระสมเด็จจำนวนมาก โดยเฉพาะในพระสมเด็จที่สร้างถวายโดยกลุ่มวังหน้า ความรู้เรื่องเหล็กไหลนี้ รับรู้เฉพาะในวงแคบของผู้ปฏิบัติธรรม และผู้ที่มีส่วนสร้างพระทั้งหมดในอดีตได้กลับชาติมาเกิดในภพนี้

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลดาวัลย์ กรมหมื่นภูมินทรภักดี เจ้ากรมช่างสิบหมู่

เจ้าพระยาภานุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค) เจ้ากรมท่า

สร้อยประคำเหล็กไหลไพลดำ อธิษฐานจิตโดยหลวงปู่โต ปี พ.ศ. 2407



ช่วงที่ 4 พ.ศ. 2408 - 2411 ในช่วงปลายรัชกาลที่ 4 สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) อายุ 77-80 ปี ในปี พ.ศ. 2408 ได้มีการสร้างพระสมเด็จเพื่อบรรจุกรุพระธาตุพนมจำลองในวัดบวรสถานสุทธาวาส (วังหน้า) มิใช่ที่พระธาตุพนม จ.นครพนม และเหตุการณ์พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสวรรคต ในปี พ.ศ. 2408 ต่อมาใน ปี พ.ศ. 2410 ท่านเริ่มสร้างพระยืนโต ที่วัดอินทรวิหาร จึงน่าจะมีการสร้างพระสมเด็จบรรจุในกรุวัดอินทรวิหารด้วย ขณะเดียวกันท่านยังได้สร้างพระพุทธรูปปางมารวิชัย มีพระนามว่าพระพุทธมหามุนีศรีมหาราช ที่วัดกุฎีทอง (วัดพิตเพียน) ตำบลพิตเพียน อำเภอมหาราช จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อีกด้วย
ช่วงที่ 5 พ.ศ. 2411 2415 ซึ่งถือเป็นช่วงสุดท้ายของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ต่อเนื่องจนกระทั่งมรณภาพ ดังจะเห็นได้จากในช่วงต้นของรัชกาลที่ 5 โดยเฉพาะในปี พ.ศ. 2411 มีการสร้างพระพิมพ์ พระบูชา และสิ่งมงคลต่างๆ จำนวนมาก เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้นครองราชย์สมบัติ พิธีพุทธาภิเษกและอธิษฐานจิตจึงเป็นวาระอันยิ่งใหญ่ที่สุดตั้งแต่มีมาในกรุงรัตนโกสินทร์ ต่อมาในปี พ.ศ. 2412 มีการสร้างพระสมเด็จเบญจรงค์ หรือ เบญจสิริ เพื่อเตรียมถวายรัชกาลที่ 5 ที่ได้ส่วนผสมหลักมาจากประเทศจีนโดยเจ้าประคุณกรมท่า (ท้วม บุญนาค) ซึ่งพระชุดนี้เรียกว่า พระสมเด็จวังหน้า ต่อมาจึงได้นำไปบรรจุไว้ในกรุวัดพระแก้วในภายหลัง ในช่วงปี พ.ศ. 2413 เสมียนตราด้วง ได้มีการขอแม่พิมพ์จากสมเด็จโต เพื่อสร้างพระสมเด็จจำนวน 84,000 องค์ เพื่อบรรจุลงในกรุเจดีย์ใหญ่วัดบางขุนพรหม (วัดใหม่อมตรส) แต่ได้สร้างและทำพิธีที่วัดอินทรวิหาร ในปีเดียวกันนี้ เจ้าประคุณสมเด็จโต ยังสร้างพระนอนวัดสะตือ จังหวัดอยุธยา จึงน่าจะมีการสร้างพระสมเด็จบรรจุในกรุนี้ด้วย ต่อมาในปี พ.ศ. 2415 สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ได้มรณภาพ ท่านเจ้าพระคุณธรรมถาวร ได้นำพระสมเด็จออกมาแจกในงานศพจำนวนมากกว่าสามหมื่นองค์ และเป็นพระสมเด็จที่ได้รับการลงรักปิดทองส่วนใหญ่ และอีกบางส่วนจำนวนมากมีผู้นำไปไว้ที่หอสวดมนต์ และบนเพดานพระวิหารของวัดระฆังด้วย
ด้านมนุษศาสตร์และสังคมศาสตร์
การศึกษาด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เป็นการศึกษาถึงความเคลื่อนไหวของผู้คนในสังคม ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างและการบูชาพระ เพราะเอกลักษณ์ของคนไทยอย่างหนึ่งก็คือ พระเครื่องหากเราเดินไปเที่ยวชมตลาดพระเครื่อง จะเห็นได้ว่า ตลาดพระแต่ละแห่งมีการขยายตัวและซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งเป็นไปตามการเปลี่ยนแปลงในระบบความเชื่อของผู้คนในสังคม หากต้องการทราบว่า ทำไมพระเครื่องนั้นๆ ถึงเป็นที่นิยมและศรัทธาของผู้คน เราลองใช้วิธีการศึกษาตามหลักวิธีวิจัย โดยการเอาพระเครื่องนั้นเป็นที่ตั้งหรือเป็นศูนย์กลาง แล้วเชื่อมโยงไปถึงผู้คนที่เกี่ยวข้องว่ามีใครบ้าง เช่น ผู้สร้าง ผู้ปลุกเสก ผู้แกะพิมพ์ ผู้กดพิมพ์ ผู้หามวลสาร ผู้แจก ผู้เก็บรักษา ผู้ใช้ ผู้ขาย ผู้บูชา เจ้าของแผง เจ้าของตลาด นายทุน ผู้โฆษณา ผู้ปั่นราคา นายหน้า องค์กร กลุ่มมาเฟีย และผู้ศรัทธา เป็นต้น ซึ่งจะทำให้เห็นถึงความเคลื่อนไหวและความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในวงการพระเครื่องของไทยในแต่ละช่วงได้อย่างกว้างขวาง แล้วจะรู้ว่า ใครเป็นผู้อนุรักษ์ ใครเป็นผู้ทำลาย ใครอยู่เบื้องหน้า ใครอยู่เบื้องหลัง หรือพูดง่ายๆ ก็คือ จะเห็นวงจรและความเปลี่ยนแปลงของวงการพระเครื่องไทยได้แจ่มชัดมากขึ้นนั่นเอง
เราต้องยอมรับกันว่า ในโลกปัจจุบันนี้ การพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีที่มุ่งเน้นด้านวัตถุเพื่อการค้า รุดล้ำไปกว่าการพัฒนาทางด้านจิตวิญญาณของความเป็นมนุษย์ มือใครยาว สาวได้สาวเอา ดังที่ ศรีศักร วัลลิโภดม นักวิชาการด้านโบราณคดีชื่อดัง แสดงทัศนะต่อวงการพระเครื่องของไทยว่า พัฒนาการของพระเครื่องที่มีต้นเค้ามาจากการนำพุทธคุณเข้ามาผสมผสานกับสิ่งที่เป็นไสยขาว จนทำให้พระเครื่องเป็นตัวแทนของบรรดาเครื่องรางของขลังที่เคยมีมาแต่อดีตนั้น ก่อให้เกิดระบบความเชื่อของคนไทยส่วนใหญ่ในสังคมปัจจุบันที่แยกไม่ออกว่าอะไรคือ ศาสนา อะไรคือ ไสยศาสตร์ รวมทั้งอะไรคือกาลเทศะของความศักดิ์สิทธิ์และสาธารณ์ และมีทัศนะในการมองโลกอย่างผิวเผิน ทั้งหลีกเลี่ยงที่จะแสวงหาความหมายของชีวิตที่ลุ่มลึกในทางจิตวิญญาณและอภิปรัชญา... สิ่งที่เป็นผลผลิตของ พุทธพาณิชย์ และ ไสยพาณิชย์ ดังกล่าวนั้น ไม่มีทางอันใดเลยที่จะทำให้คนส่วนใหญ่ในสังคมพบกับความสงบสุขของชีวิตในด้านจิตวิญญาณได้ เพราะความต้องการของคนที่ลุ่มหลงเหล่านี้ก็คือ ความร่ำรวย (ศรีศักร วัลลิโภดม. 2537: 89)
จึงเห็นได้ว่า ความนิยมวัตถุมงคลในสังคมไทยขณะนี้ ทำให้มีการปลุกเสกและสร้างพระเครื่องรวมทั้งวัตถุมงคลชนิดต่างๆ ขึ้นมามากมาย จึงทำให้มองเห็นสภาพของการเจริญเติบโตทางด้านการค้าในตลาดบ้านเรา และกำลังขยายไปสู่ตลาดโลกมากขึ้น เพราะมีผู้มองเห็นว่า วัตถุมงคลเป็นสินค้าที่สามารถทำกำไรซึ่งน่าจะมากที่สุดในโลก เพราะลงทุนน้อย แต่สร้างกำไรมหาศาล อีกทั้ง มีระบบความเชื่อที่ว่า ใครได้ครอบครองพระเครื่องที่สำคัญและหายากแล้วนั้น ก็แสดงว่า เป็นผู้ที่มีฐานะร่ำรวย ยิ่งใหญ่ และมีบุญบารมีมาก ส่วนผู้ที่มีฐานะน้อยก็ต้องยอมรับนับถือเอาพระเครื่องที่มีราคาถูกตามบุญบารมีของแต่ละคน ยกเว้นผู้มีบุญและสร้างแต่กรรมดี แม้จะยากจนก็อาจได้รับวัตถุมงคลที่หายากและราคาแพงอย่างไม่คาดฝันก็เป็นได้ แล้วท่านหละ เป็นบุคคลอยู่ในกลุ่มประเภทใด และท้ายสุดในอนาคตแนวโน้มของวงการพระเครื่องในบ้านเราจะไปในทิศทางใด เพื่อศาสนา เพื่อการค้า หรือเป็นการรอมชอมกันระหว่างเพื่อศาสนาและการค้า ก็ขึ้นอยู่กับสังคมจะเป็นผู้กำหนด
ด้านพุทธศิลป์
การศึกษาด้านพุทธศิลป์ได้แก่ การศึกษาเรื่องพิมพ์ทรง ขนาด รูปร่าง ความงาม หรือสกุลช่าง กล่าวกันว่า พระพิมพ์ของสมเด็จโตนั้น มีจำนวนหลายพิมพ์ หลายเนื้อ หลายขนาด หลายสภาพตั้งแต่เก่าสุดจนถึงใหม่สุด โดยเฉพาะในช่วงบั้นปลายชีวิตของท่านแล้ว พระพิมพ์ของท่านได้รับการพัฒนาสูงสุด ทั้งด้านเนื้อหามวลสาร และความงาม ความสมบูรณ์ จากฝีมือของช่างหลวงหลายคน ฉะนั้น พระพิมพ์เนื้อผงของสมเด็จโตที่เป็นที่นิยมและถือเป็นสุดยอดจักรพรรดิแห่งพระเครื่องนั้น จึงเป็นพระที่สร้างขึ้นในช่วงปลายของท่าน (พ.ศ. 2412-2415) การศึกษาด้านพุทธศิลป์ อาจเริ่มต้นดูที่ลักษณะของพระคือ ขนาด รูปร่าง และสัดส่วน พระสมเด็จวัดระฆังที่เป็นที่นิยมทุกพิมพ์ จะมีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่โบราณนิยมเรียกว่า สี่เหลี่ยมชิ้นฟัก รูปสี่เหลี่ยมนี้ นับว่าเป็นสัดส่วนที่มีความงามทางด้านศิลปะ
สัดส่วน (Proportion) เป็นกฎของเอกภาพที่เกี่ยวข้องกับความสมส่วนซึ่งกันและกันของขนาด (Dimensions) ความงามของสุนทรียภาพในองค์พระสมเด็จฯนั้น จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อสัดส่วนสัมพันธ์ภายในองค์ประกอบมีความเหมาะสม ลงตัว จะเห็นได้ว่า ช่างปฏิมากรได้รังสรรค์องค์พระสมเด็จออกมานับว่ามีรูปร่างสัดส่วนงดงามยิ่ง ซึ่งสันนิษฐานได้ว่า ผู้เป็นช่างหลวงน่าจะมีความรู้ดีในเรื่อง สัดส่วนทอง หรือ โกลเดน เซคชั่น (Golden Section) คือ กฎของสัดส่วนกฎหนึ่งที่ชาวกรีกได้สร้างขึ้นมา เพื่อความงามในการเขียนภาพและการออกแบบงานสถาปัตยกรรมเมื่อหลายพันปี และยังใช้กันมาจนถึงทุกวันนี้ ดังจะเห็นได้จากสัดส่วนของเฟรมผ้าใบสำหรับวาดภาพ กระดาษขนาดต่างๆ สมุด หนังสือ จอทีวี จอมอนิเตอร์ ช่องหน้าต่าง ภาพถ่าย และอีกมากมายเป็นต้น สัดส่วนทองมีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 3 ส่วน ยาว 4 ส่วน จะย่อหรือขยายให้ได้ขนาดเท่าใดก็ได้ และเมื่อนำเอาสัดส่วนทองมาเทียบกับสัดส่วนของพระสมเด็จแล้ว จะมีความพอดีกันดังภาพ

ภาพแสดงสัดส่วนทอง (Golden section)

อย่างไรก็ตาม พระพิมพ์ที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) สร้างขึ้นนั้น เป็นการย่อเอาพระพุทธศาสนาลงบรรจุไว้ในแบบพระพิมพ์ของท่าน นับเป็นรูปแบบเฉพาะที่สมเด็จโตคิดขึ้นเป็นองค์แรก พุทธศิลป์ที่สมเด็จโตนิยมนำมาเป็นแบบในการสร้างพระพิมพ์ของท่านนั้น กล่าวกันว่า เลียนแบบมาจากลักษณะของพระพุทธรูปที่สำคัญได้แก่ พระพิมพ์ใหญ่ทรงประธาน เลียนพุทธศิลป์สมัยสุโขทัย พิมพ์ทรงเจดีย์ เลียนพุทธศิลป์สมัยเชียงแสน พิมพ์ทรงอกร่อง หูยาน เลียนพุทธศิลป์สมัยอู่ทอง เป็นต้น โดยเฉพาะพระประธานเนื้อทองสำริด ปางสมาธิ ที่สถิตอยู่ในพระอุโบสถวัดระฆังนั้น ถือเป็นต้นแบบที่สมเด็จโตนำมาสร้างเป็นพระพิมพ์ของท่านมากที่สุด เนื่องจากเป็นพระพุทธรูปที่สวยงามยิ่ง ดังที่รัชกาลที่ 5 ได้ทรงมีพระราชดำรัสแก่ผู้เข้าเฝ้าฯใกล้ชิดว่า ไปวัดไหนไม่เหมือนมาวัดระฆัง พอเข้าประตูโบสถ์ พระประธานยิ้มรับฟ้าทุกที (คณะกรรมการโครงการสืบสานมรดกวัฒนธรรมไทย. 2542:21) ซึ่งลักษณะของพุทธศิลป์ในพระพุทธรูปนั้น เป็นการจำลองแทนพระวรกายของพระพุทธเจ้า ด้วยการลดทอนลักษณะเหมือนจริง ดังที่จุลทัศน์ พยาฆรานนท์ (2550:บรรยาย) ได้อธิบายไว้ว่า 1) พระพุทธรูปต้องสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นพุทธปัญญา ที่มีปัญญาเป็นเลิศ จะแตกต่างจากเทวรูปที่แสดงถึงไสยเวท (ปัญญามืด) 2) พระพุทธรูปต้องถูกต้องตามมหาบุรุษ 82 ประการ 3) พระพุทธรูปจะต้องไม่มีรูปลักษณ์เหมือนผู้ใดผู้หนึ่งหรือมนุษย์คนหนึ่งคนใด 4) พระพุทธรูปเห็นแล้วต้องรู้ว่าเป็นพระพุทธเจ้า 5) พระพุทธเจ้าไม่แสดงเพศและวัย 6) ต้องเป็นรูปที่เรียบง่าย ผิวตึง ไม่มีเส้นเอ็น และปุ่มกระดูก จากคำอธิบายดังกล่าว น่าจะเป็นคตินิยมที่สมเด็จโตและช่างปฏิมากรรมนำมาพัฒนาลักษณะของพระพุทธเจ้าในพระพิมพ์ ให้มีลักษณะที่ลดทอนความเหมือนจริงมากกว่าพระพุทธรูปลงไปอีก เนื่องจากขนาดขององค์พระพิมพ์นั้น มีขนาดเล็กและยากแก่การแกะพิมพ์อีกด้วย

พระประธานวัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร

นอกจากนั้น ฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ (2550: 92) ได้อธิบายความหมายที่ปรากฏอยู่ในพุทธศิลป์หรือรูปลักษณะพระพิมพ์สมเด็จดังนี้ 1) รูปสี่เหลี่ยมด้านไม่เท่า หมายถึง พื้นแผ่นดินที่ทรงอริยสัจจ์อยู่ 2) วงโค้งในรูปสี่เหลี่ยม หมายถึง อวิชชาที่คลุมพิภพอยู่ 3) รูปสามเหลี่ยมในวงโค้ง หมายถึง พระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ผู้พบแล้วซึ่งพระอริยสัจจ์ 4) รูปพระนั่งขัดสมาธิบนบัลลังก์ หมายถึง พระพุทธเจ้า ปางตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ณ โพธิบัลลังก์ 5) ฐาน 3 ชั้น หมายถึงพระไตรปิฎก ฐาน 7 ชั้น หมายถึงอปนิหานิยธรรม ฐาน 9 ชั้น หมายถึงมรรค 4 ผล 4 นิพพาน 1 นอกจากนั้น มีบางท่านบอกว่า เส้นซุ้มเรือนแก้วนั้น อาจได้แนวความคิดมาจากครอบแก้ว ซึ่งเพิ่งจะมีครอบแก้วครอบพระบูชาประจำวัดในขณะนั้น ซึ่งจุลทัศน์ พยาฆรานนท์ (2550: บรรยาย) ได้แสดงทัศนะเกี่ยวกับเส้นซุ้มดังกล่าวว่า การที่รูปพระพุทธเจ้าอยู่ภายในเส้นซุ้มนั้น น่าจะทำให้พลังพุทธานุภาพเคลื่อนไหวอยู่ภายในองค์พระด้วย
ด้านวิทยาศาสตร์
การศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์คือ การศึกษาในส่วนของกายภาพ (Physical) ได้แก่ การศึกษาเนื้อหา มวลสาร สีผิว และธรรมชาติขององค์พระ ที่สามารถสังเกตและมองเห็นได้ ซึ่งอาจเริ่มด้วยการศึกษาเนื้อหาและสีผิววรรณะที่มีความหลากหลาย ซึ่งขึ้นอยู่กับส่วนผสมของมวลสาร และลักษณะของการเคลือบผิว เป็นต้น ซึ่งในแต่ละพิมพ์จะมีทั้งความเหมือนและแตกต่างกันอยู่บ้างเล็กๆน้อยๆ เช่น พระที่มีอายุในการสร้างมากกว่าในยุคแรกๆ ก็จะมีความเก่ากว่าพระที่สร้างในยุคหลัง และพระในยุคหลังก็จะถูกพัฒนาให้มีความสมบูรณ์ สวยงาม และดูใหม่สดกว่าพระที่สร้างในยุคต้นๆ ฉะนั้น อย่าเอาพระยุคหลังไปเทียบกับพระยุคต้น เพราะจะทำให้พระแท้ที่สวยงามหลุดมือไปได้ การศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์มีดังนี้
เนื้อมวลสารและสีผิววรรณะ (Mixture and Color) เป็นการศึกษารายละเอียดของเนื้อหรือมวลสารหลักและส่วนผสมสำคัญ รวมทั้งการศึกษาลักษณะสีผิวหรือวรรณะที่ปรากฏในองค์พระที่สามารถมองเห็นได้ ซึ่งมวลสารหลักได้แก่ ปูนขาวเปลือกหอย ผงว่านต่างๆ ผงข้าวสุก ผงเกสร ผงกระยาสารท ผงตะไคร่ใบสีมา ผงอิธะเจ ผงปถมัง ผงกรุเก่า ผงชานหมาก ผงใบลาน ผงดินสอ ผงพอกช้างเผือก ผงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ ผงเหล็กไหล ผงตะไบสีทอง เงิน ทองแดง อินทรียวัตถุ อนินทรียวัตถุ ฯลฯ ส่วนสีผิววรรณะนั้น จะมีลักษณะอ่อนแก่แตกต่างกันไปตามส่วนผสมของน้ำมันประสาน ซึ่งได้แก่ น้ำมันตังอิ้ว น้ำอ้อย น้ำผึ้ง กล้วยสุก กาวยางไม้ต่างๆ หรือการลงรักปิดทอง เป็นต้น เมื่อนำส่วนผสมต่างๆ มาตำคลุกเคล้าและพิมพ์เป็นองค์พระออกมาแล้ว จะได้ลักษณะของเนื้อพระแตกต่างกันไปในแต่ละคราว ซึ่งมักเรียกกันว่า หลายพิมพ์หลายเนื้อนั่นเอง จากการศึกษาลักษณะเนื้อหามวลสารของพระสมเด็จวัดระฆัง อาจจำแนกออกเป็น 3 ลักษณะใหญ่ๆ ดังนี้
1. พระเนื้อละเอียด คือ เนื้อแน่น แกร่ง ผิวมีความมันวาว และไม่ค่อยปรากฏมวลสารชัดเจนนัก เนื่องจากมวลสารต่างๆ ถูกตำถูกบดจนละเอียดมาก ซึ่งอาจแบ่งออกเป็น 2 ประเภทได้แก่ 1) เนื้อละเอียดสุด เช่น พระประเภทเนื้อแก่ปูนเพ็ชรหรือปูนแกร่ง สีขาวนมข้น สีขาวเทา ขาวงาช้าง เทาออกเขียว เทาออกเหลือง และเนื้อกระเบื้องกังใสสีขาวมันวาว ฯลฯ 2) เนื้อละเอียด ได้แก่ เนื้อผงผสมปูนสีขาวเจือเหลืองอ่อน และบางองค์เป็นเนื้อแก่ข้าวสุกหรือเนื้อตุ้บตั้บ ซึ่งพระทั้งสองประเภทนี้มักจะมีความสมบูรณ์ สวยงาม คมชัด มากกว่าพระประเภทเนื้ออื่นๆ แต่ก็มีข้อเสียอยู่บ้างคือ อาจทำให้มือใหม่ดูยาก นอกจากนั้น พระประเภทนี้มักจะมีคราบน้ำปูนขาวที่เรียกกันว่า คราบแป้ง ปรากฏชัดเจน คราบปูนนี้คือ คราบของน้ำปูน (แคลเซียม) ที่เกิดจากกระบวนการหล่องานปั้นที่มีส่วนผสมของปูน (คนละส่วนกับการโรยแป้งอย่างที่หลายคนเข้าใจ) เพราะผู้เขียนเองมีประสบการณ์ในการสอนทำพิมพ์และหล่องานปูน รวมทั้งงานเซรามิกมาหลายปี คราบปูนนั้นจะเกิดเฉพาะในด้านผิวหน้าขององค์พระ เพราะขณะที่หล่อแบบอยู่ในเบ้าพิมพ์นั้น เนื้อปูนจะค่อยๆ เซ็ทตัวและไล่น้ำออกมาทางผิวหน้า น้ำจึงขังอยู่ในเบ้าด้านในไม่สามารถระเหยออกไปได้ จึงทำให้ผิวหน้าด้านในนั้นแห้งช้ากว่าเนื้อปูน จึงปรากฏคราบแป้งดังกล่าว บางองค์น้ำภายในจะทำให้ผิวหน้า (Surface) เป็นคลื่นขรุขระคล้ายหนังปลากระเบน ซึ่งเป็นส่วนในการพิจารณาพระแท้ที่สำคัญอีกจุดหนึ่ง ส่วนพระที่มีเนื้อหยาบมักจะไม่ค่อยปรากฏคราบแป้งให้เห็น


พระสมเด็จวัดระฆังแบบเนื้อละเอียด

2. พระเนื้อปานกลาง ซึ่งศาสตราจารย์ปรีชา ช้างขวัญยืน แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยให้ความเห็นกับผู้เขียนว่า เป็นพระเนื้อมาตรฐาน คือ พระที่มีเนื้อหามวลสารและส่วนผสมหยาบปานกลาง มีความแน่นและแกร่งปานกลาง ส่วนใหญ่มักจะมีสีผิววรรณะออกเหลืองผ่อง เหลืองกลัก เหลืองออกเขียว มีความหนึกนุ่ม มีเม็ดมวลสารปรากฏชัดเจน มักมีรอยราน รอยแยก หรือแตกลายบนผิวพระ มีความห่างของโมเลกุล มีรากผักชี และบางองค์เนื้ออาจแก่ผงคือ แก่ผงพุทธคุณ ผิวจึงค่อนข้างแห้งฟู สีออกเหลืองเขียว พระประเภทเนื้อปานกลางจึงดูง่าย เป็นมาตรฐาน มีเสน่ห์และสวยงาม จึงเหมาะสำหรับมือใหม่ใช้เป็นแนวในการศึกษา
พระเนื้อมาตรฐานนี้ กล่าวกันว่า เป็นพระที่สร้างขึ้นในยุคบั้นปลายชีวิตของสมเด็จโต เพราะเป็นพระที่ประกอบไปด้วยความเป็นเลิศ ทั้งส่วนผสมของเนื้อมวลสารที่มีครบ สามารถเห็นด้วยตาเปล่าได้ชัดเจน มีความสมบูรณ์สวยงามด้วยฝีมือการรังสรรค์ของช่างปฏิมากรที่มีความเป็นเลิศคือช่างหลวง สีผิววรรณะขององค์พระมีลักษณะออกสีเหลืองผ่องเหมือนกับสีของพระสงฆ์ผู้เจริญด้วยศีลวัตรอันบริสุทธิ์ ดูประหนึ่งเป็นการแสดงถึงความเป็นพระอริยสงฆ์ผู้ปรารถนาพุทธภูมิ นอกจากสีเหลืองผ่องแล้ว ยังมีสีเหลืองเข้มเหมือนจีวรของพระสายวัดป่า (สีกลัก) และสีเหลืองน้ำตาล ซึ่งแสดงถึงความเป็นพระธุดงควัตรที่แก่กล้าด้วยข้อปฏิบัติ และความขลังแห่งพลังพุทธานุภาพ ข้อสำคัญอีกประการหนึ่ง พระเนื้อมาตรฐานนี้ มักจะมีความแรงของพลังออร่าตั้งแต่ระดับมาตรฐานคือ 1x (เท่า) จนถึงระดับสูงสุดคือ แบบไร้ขีดจำกัด (ที่เกิดจากการอาราธนาพระเบื้องบนสงเคราะห์เพิ่มพลังให้ในปี 2554) จึงขอยืนยันว่า พระเนื้อมาตรฐานนี้ เป็นพระที่มีความงาม ธรรมชาติดูง่ายมากที่สุด สร้างมากที่สุดนับแสนๆองค์ และเป็นที่นิยมสูงสุด

พระสมเด็จวัดระฆังเนื้อมาตรฐาน
3. พระเนื้อหยาบ หรือที่เรียกว่า เนื้อกระยาสารท คือ เนื้อฟ่าม หลวม ไม่แกร่งเป็นเนื้อประเภทแก่มวลสารและมักจับกันเป็นก้อน มีรอยแยก ยุบ ย่น และความห่างของโมเลกุลชัดเจน บางองค์แก่น้ำมันตังอิ้ว จึงทำให้สีออกเหลืองน้ำตาล จนถึงน้ำตาลเข้ม ส่วนมากพระประเภทนี้ มักไม่ค่อยสมบูรณ์และสวยงามเท่าใดนัก บางองค์ที่เป็นพระเก่าเก็บและไม่เคยผ่านการล้างน้ำอุ่นมาก่อน อาจมีแมลงตัวใสซุกซ่อนอยู่ในรูโพรงของพระอีกด้วย

พระสมเด็จวัดระฆัง แบบเนื้อหยาบ

การศึกษาธรรมชาติ (Amulet nature) ของพระสมเด็จวัดระฆังนั้น หมายถึงการศึกษาเรื่องความเก่า ความเป็นธรรมชาติในองค์พระ พระที่ยังไม่ผ่านการใช้ (เก่าเพราะการเก็บ) หรือ Original กับพระที่ผ่านการใช้แล้ว (เก่าเพราะการใช้) หรือ Modify มาแล้ว จะมีความแตกต่างกันพอสมควรกล่าวคือ พระที่ยังไม่ผ่านการใช้มักจะมีลักษณะที่สมบูรณ์คมชัด แต่เนื้อและผิวจะดูสดเหมือนใหม่ จึงทำให้ดูยากกว่า เนื่องจากผิวขององค์พระยังไม่ถูกเปิดให้เห็นเม็ดมวลสารที่อยู่ภายใน ซึ่งผิวบน (Surface) ขององค์พระจะปรากฏเป็นแผ่นฟิล์มบางๆของน้ำมันตังอิ้ว ซึ่งมีลักษณะสีเหลืองหรือน้ำตาลคลุมทับองค์พระ ธรรมชาติของน้ำมันตังอิ้วที่ผุดขึ้นมาเหนือผิวพระนั้น ต้องใช้เวลามากกว่าร้อยปี ส่วนพระที่ผ่านการใช้แล้ว จะดูง่ายกว่า อีกทั้งผิวพระจะถูกเปิดออกให้เห็นเม็ดมวลสารและส่วนผสมที่อยู่ในเนื้อพระมากขึ้น ผิวที่ถูกจับถูกลูบทำให้คราบน้ำมันตังอิ้วหลุดออกไป และทำให้เนื้อพระถูกปฏิกิริยาของเหงื่อที่มีทั้งความเค็มและเปรี้ยว จึงทำให้สีผิวของพระเปลี่ยนไป และทำให้เนื้อพระมีความหนึกนุ่ม บางองค์เนื้ออาจฟูขึ้น การเกาะของน้ำมันตังอิ้วที่ผุดขึ้นมาเหนือผิวองค์พระนั้น จากการสังเกตในชิ้นพระที่แตก จะเห็นผลึกสีน้ำตาลกินเข้าไปในเนื้อพระประมาณเกือบ 1 มิลลิเมตร ส่วนน้ำหนักของพระจะมีความพอดีกับน้ำหนักมือ และขึ้นอยู่กับขนาดและความหนาขององค์พระด้วย
ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งคือ พระสมเด็จวัดระฆังทุกพิมพ์จะมีกลิ่นแตกต่างกันระหว่างพระที่ยังไม่ผ่านการใช้กับพระที่ผ่านการใช้แล้วกล่าวคือ พระที่ยังไม่ได้ผ่านการใช้ (ไม่ผ่านการสรงน้ำอุ่น) จะมีกลิ่นมะลิตุ่นๆ ที่เกิดจากส่วนผสมของดอกมะลิแห้งที่บดผสมกับน้ำมันตังอิ้วหรือน้ำอ้อย เมื่อใช้ไปได้สักระยะหนึ่ง กลิ่นตุๆ จะค่อยๆหายไป เนื่องจากถูกกลบด้วยกลิ่นไอของเหงื่อที่ทำปฏิกิริยากับเนื้อพระ หรือถูกล้างด้วยน้ำอุ่น
ข้อสำคัญอีกประการหนึ่งในการสังเกตธรรมชาติของพระสมเด็จวัดระฆัง นอกจากจะมีมวลสารและส่วนผสมครบแล้ว แทบทุกองค์ ในส่วนของผิวพระแม้จะเป็นส่วนเรียบมัน แต่ส่วนผิวหน้าจะดูขรุขระ สูงต่ำ บางแห่งมีการยุบตรงก้อนมวลสาร มีความย่น มีรอยแยก รอยแตก (รากผักชี) มีรอยยาวหรือเส้นวาสนาตามเส้นซุ้ม มีรอยเว้าม้วนตัวในบริเวณซอกแขนและเส้นซุ้ม และบางองค์จะมีคราบน้ำปูนสีขาวอยู่บนผิวพระ ซึ่งธรรมชาติของพระเลียนแบบ (ปลอม) ไม่สามารถทำได้ นอกจากนั้น ด้านข้างขององค์พระ มักจะปรากฏรอยปริแยกค่อนมาทางด้านหน้าขององค์พระ เนื่องจากการตัดขอบ เซียนบางท่านบอกว่า เกิดจากการตัดขอบด้วยตอกจากด้านหลังไปด้านหน้า โดยการทำเครื่องหมายหรือตำแหน่งในการตัดขอบไว้ในแม่พิมพ์ด้านหลัง อย่างไรก็ตาม ความจริงข้อนี้ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ไม่รู้จบ ฉะนั้นผู้เขียนจึงขอแย้งและขอเสนอความจริงอีกด้านกับผู้อ่าน ด้วยเหตุผลที่เป็นวิทยาศาสตร์ และจากประสบการณ์ในการสอนวิชาประติมากรรมและเซรามิกในมหาวิทยาลัยมานาน ขอยืนยันว่า ไม่ว่าจะเป็นยุคสมัยใด การทำแม่พิมพ์สำหรับหล่องานต่างๆ นั้น จะต้องทำเบ้าพิมพ์ในลักษณะลึกและมองเห็นกลับด้าน ในการหล่อแบบพระพิมพ์สมเด็จนั้นก็ใช้หลักการเดียวกัน คือ แกะเป็นร่องลึกลงไปประมาณครึ่งเซนติเมตร เป็นรูปสี่เหลี่ยม หลังจากหล่อองค์พระในเบ้าพิมพ์แล้ว เวลาจะตัดขอบแม้จะทำเครื่องหมายไว้ ท่านก็ไม่สามารถใช้ของมีคมโดยเฉพาะตอกตัดตามความยาวลงไปในแม่พิมพ์ขณะที่ยังไม่ได้เคาะเอาองค์พระออกมาได้ เนื่องจากจะติดขอบของเบ้าพิมพ์ หรือหากแม้จะทำได้ การที่ใช้คมของเส้นตอก ซึ่งแน่นอนมันต้องมีความหนาพอสมควร เวลาตัดมันจะกดทับเป็นเส้นร่องหนาตามขนาดของเส้นตอก มันจะดันเนื้อพระไปทุกทิศทาง ในเมื่อพิมพ์มันเป็นเบ้า เนื้อพระมันจะดันไปด้านข้างได้อย่างไร มันจะเกิดการบิดเบี้ยว ปูดโปน และเนื้อพระที่หมาดก็จะติดขึ้นมากับเส้นตอกด้วย แล้วมันจะสวยงามได้อย่างไร ส่วนหลักความจริงทางด้านวิชาการนั้น เมื่อกดเนื้อพระลงไปในเบ้าจนหมาดแล้ว จึงเคาะเอาพระออกมาจากแม่พิมพ์ แล้วจึงใช้ของมีคมหรือเส้นตอกตัด เวลากดตอกลงไปผิวด้านหน้าจะต้องโดนน้ำหนักก่อน จึงทำให้ผิวหน้ายุบลงไปด้วย เมื่อกดลงไปถึงด้านหลังซึ่งติดกับแผ่นกระดานหรือแผ่นระนาบ แรงกดของตอกก็จะเบาลง เมื่อดึงตอกออกมา โดยธรรมชาติเราต้องดึงเฉียงออกมาด้านข้าง เนื้อพระบางส่วนก็จะติดขึ้นมากับเส้นตอกตามแรงดึง ส่วนรอยแยกปริด้านข้างค่อนมาทางด้านหน้าขององค์พระนั้น จึงเกิดจากน้ำหนักของแรงกด ส่วนด้านหลังเนื่องจากไม่สามารถตัดทะลุลงไปได้ทั้งหมด เนื่องจากติดแผ่นรอง จึงทำให้เนื้อบางส่วนยังติดเกินอยู่ในขอบด้านหลัง ซึ่งผู้เขียนยังไม่เคยเห็นมีเนื้อพระเกินที่ขอบข้างด้านหน้า ผู้เขียนจึงขออ้างตามหลักวิชาการ ผู้อ่านจึงต้องใช้ดุลพินิจของตัวเอง หรือจะตัดเรื่องนี้ออกไปเสีย ขอแค่ว่ามันมีรอยปรินี้ก็น่าจะพอแล้ว

ภาพคราบปูนและรอยปริแยกด้านข้างของพระสมเด็จวัดระฆัง

การพิจารณาธรรมชาติด้านหลังขององค์พระ ก็เป็นจุดสำคัญอีกประการหนึ่งในการดูพระแท้ ซึ่งบางคนอาจจะดูด้านหลังก่อนด้านหน้าก็ได้ รอยด้านหลังจะเกิดจากการใช้วัสดุในลักษณะต่างๆ อาจจะเป็นแผ่นไม้กระดาน แผ่นไม้ตอก หรือวัสดุแบนๆ ปาดให้พอดีกับระนาบของแม่พิมพ์ การเกิดรอยต่างๆ จะเป็นไปตามลักษณะของวัสดุและแรงกดในการปาดไม่เท่ากัน ลักษณะที่พบกันมากได้แก่ หลังเรียบ หลังกระดาน หลังกาบหมาก หลังเป็นร่องและรอยแยก หลังขรุขระ หลังสังขยา หลังปริข้าง หลังกระสอบ หลังมีก้อนมวลสาร ฯลฯ นอกจากนั้น ยังมีจุดที่ควรพิจารณาก็คือ ความห่างของโมเลกุล รอยรากผักชี เส้นใยแมงมุม รอยปูไต่หรือเส้นที่เกิดจากการครูดคล้ายๆ รอยโซ่ ซึ่งยังไม่ทราบว่ามันเกิดจากอะไร
การลงรักและปิดทอง เป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมของชนชาติเอเชีย เพื่อใช้รักษาวัสดุหรือเครื่องใช้ให้คงทนถาวรและสวยงาม ปราชญ์โบราณรู้จักนำเอายางรักมาใช้ในการเคลือบและตกแต่งผิวของวัตถุหรือสิ่งของเครื่องใช้ที่ทำจากวัสดุประเภทต่างๆ เช่น ไม้ เครื่องจักสาน หนัง ผ้า โลหะ เครื่องปั้นดินเผา หิน หรือใช้ในงานประเภทประณีตศิลป์ มัณฑนศิลป์ และวิจิตรศิลป์ เป็นต้น เมื่อยางรักแข็งตัวแล้วจะมีคุณสมบัติป้องกันน้ำซึม และทนต่อสภาพของดินฟ้าอากาศ "รัก" เป็นชื่อยางไม้ชนิดหนึ่งเป็นวัสดุที่ได้จาก "ต้นรัก" (melanorrhoea usitata) ต้นรักเป็นไม้ยืนต้นขนาดย่อม การนำยางรักจากต้นรักมาใช้ ทำด้วยการกรีดหรือสับด้วยมีดที่ลำต้นให้เป็นรอยยาว ยางรักจะไหลออกมาตามรอยที่กรีดหรือสับนั้น นำภาชนะมารองรับน้ำยางรักคล้ายๆ กับการกรีดยางพารา ส่วนรักที่นำมาใช้ทาเพื่อรักษาเนื้อพระสมเด็จนั้น นิยมนำเอารักที่เรียกว่า รักน้ำเกลี้ยง คือ รักดิบที่ผ่านการกรองและได้รับการซับน้ำเรียบร้อยแล้ว เป็นน้ำยางรักบริสุทธิ์ จึงเรียกว่า รักน้ำเกลี้ยง พระสมเด็จที่ลงรักน้ำเกลี้ยงส่วนใหญ่จะมีสีดำปนแดงที่เรียกว่ารักสีเลือดหมู และมักเคลือบติดแน่นกับเนื้อพระ ล้างออกยาก ส่วนพระที่ลงรักแดงนั้น เป็นรักน้ำเกลี้ยงผสมด้วยสีแดงชาดของจีน ส่วนการลงรักปิดทองก็เป็นที่นิยมกล่าวคือ อาจใช้วิธีใช้ รักเกลี่ย คือ รักน้ำเกลี้ยงผสมกับสมุกถ่านใบตองแห้งป่น บางทีเรียกว่า สมุกดิบ ใช้ทาบนผิวพระก่อนปิดทองคำเปลว หรืออาจใช้ รักเช็ด คือ รักน้ำเกลี้ยง นำมาเคี่ยวบนไฟอ่อนๆ เพื่อไล่น้ำให้ระเหยออกมากที่สุด จนได้เนื้อรักข้นและเหนียวจัด สำหรับใช้แตะ ทา หรือเช็ดลงบนพื้นบางๆ เพื่อปิดทองคำเปลว ซึ่งคนไทยนิยมลงรักปิดทองในพระพิมพ์และพระเครื่องมาตั้งแต่โบราณ อย่างไรก็ตาม การลงรักปิดทองในพระสมเด็จนั้น ส่วนใหญ่เราจะดูความเก่าของรักและทองคำเปลวเป็นหลัก กล่าวคือ หากเป็นการลงรักปิดทองส่วนใหญ่จะเป็นรักสีดำและมีความเก่า อีกทั้งหลุดลอกได้ง่ายกว่าพระที่ลงรักน้ำเกลี้ยงที่มีสีออกน้ำตาล รักน้ำเกลี้ยงจะล้างออกยาก อีกทั้งมีลักษณะเป็นแผ่นบางๆ ติดแนบเนื้อและมีความมันวาว อนึ่ง ผู้เขียนพบพระสมเด็จบางองค์ลงรักปิดนากอีกด้วย ซึ่งพบน้อยมาก

พระสมเด็จวัดระฆังลงรักปิดทองและปิดนาก
         
พลังพุทธานุภาพ
การศึกษาพลังพุทธานุภาพ เป็นความคิดเห็นและความเชื่อส่วนตัว แต่ในบางส่วนเกิดจากการศึกษาค้นคว้าทั้งจากตำรา จากผู้ทรงคุณวุฒิ จากผู้ปฏิบัติจนได้ฌานสมบัติ จากพระอริยสงฆ์ และจากการปฏิบัติจริงของผู้เขียน อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนพยายามจะอธิบายสิ่งที่เป็นนามธรรมที่เป็นเรื่องของอจินไตย คือ เรื่องที่มองไม่เห็น และสามารถรู้ได้เฉพาะตน ผ่านสิ่งที่เป็นรูปธรรมอันได้แก่ มวลสารซึ่งเป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์ ฉะนั้น ทุกท่านโปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน และอย่าเชื่อจนกว่าท่านจะได้รับการพิสูจน์ด้วยตัวท่านเอง
หากกล่าวถึง พลังและอำนาจที่เกิดจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือสิ่งที่มองไม่เห็นนั้น ไม่ว่าจะเป็นชนชาติใดๆในโลก ล้วนมีความเชื่อมาแต่โบราณกาลนับหลายพันปีมาแล้ว คำว่าพลัง (power) หรือกำลังในทางวิทยาศาสตร์นั้น คือ พลังงาน (energy) ที่หมายถึง ความสามารถซึ่งมีอยู่ในตัวของสิ่งที่อาจให้แรงงานได้ ฉะนั้น การที่จะเกิดเป็นแรงงานนั้นได้ จำเป็นต้องมีสิ่งหรือสื่อ (medium) ที่เป็นตัวกลางทำให้เกิดเป็นพลังงานขึ้นมา ยกตัวอย่างเช่น เมื่อมีคนไปจับสายไฟที่รั่วจะทำให้เกิดไฟฟ้าช็อต ฉะนั้น คนจึงเป็นสื่อกลางที่ทำให้กระแสไฟฟ้าไหลจนทำให้เกิดไฟช็อตดังกล่าว ส่วนพลังในทางศาสนานั้น อาจหมายถึงพลังจิต (power of mind) ที่เกิดจากความเข้มแข็งหรืออำนาจจิตใจของมนุษย์ในขั้นอภิญญาชั้นสูง ซึ่งอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) กล่าวว่า พลังสมาธิเป็นพลังที่มีอำนาจที่สุด และมีประสิทธิภาพที่สุดในโลก พลังจิตจะถูกบรรจุไว้ในสิ่งหรือสื่อกลางซึ่งเป็นตัวเก็บกักพลังงานที่ไม่สามารถมองเห็นได้ ซึ่งไร้รูป ไร้กลิ่น ไร้รส ไร้สี ไร้เสียง และจะแสดงพลังออกมาก็ต่อเมื่อ มีการกระทบกับสิ่งที่มากระตุ้นให้เกิดเป็นปรากฏการณ์ต่างๆ อย่างเหลือเชื่อ ในหลายๆรูปแบบ (คล้ายกับคนที่ไปจับสายไฟที่รั่ว จึงทำให้เกิดไฟฟ้าช็อต) ซึ่งอาจจะปรากฏในคนที่กำลังได้รับอุบัติเหตุ แต่ยังมีสตินึกถึงคุณของพระที่แขวนอยู่ในคอ จึงทำให้เกิดเป็นพลังมหัศจรรย์ช่วยให้รอดพ้นจากอันตรายไปได้ และพลังของพระเครื่องจะสามารถทะลุร่างกายได้
อย่างไรก็ตาม นอกจากคนไทยและชาวเอเชียจะเชื่อในเรื่องของพลังดังกล่าวแล้ว ในประเทศตะวันตกก็ได้มีการศึกษาเรื่องของพลังงานที่ฝรั่งเรียกว่า พลังออร่า (aura) มานานแล้ว ซึ่งพลังออร่าจะเป็นพลังห่อหุ้มวัตถุต่างๆ รวมทั้งร่างกายของมนุษย์ด้วย ซึ่งเรียกว่า Bio-energy ในปี พ.ศ. 2546 นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบ พลังงานสเคล่าร์ (Scalar energy) คือ พลังงานไฟฟ้ารูปแบบใหม่ที่สมบูรณ์ที่สุดเท่าที่โลกเคยค้นพบ ที่จริงแล้วพลังงานสเคล่าร์นี้มีคู่กับโลกมานานแล้ว โดยดวงอาทิตย์ส่องแสงแดดลงมายังพื้นผิวโลกทุกๆวัน พลังงานจากแสงแดดจะถูกสะสมไว้ภายใต้พื้นผิวโลก รวมทั้งแร่ธาตุต่างๆ ที่มีอยู่มากมายมหาศาลในชั้นเปลือกโลกที่เป็นของเหลวร้อนระอุอยู่ตลอดเวลา เรียกว่า แมกมามีอุณหภูมิสูงประมาณ 800-1,200 องศาเซลเซียส และที่ระเบิดออกมาตามปล่องภูเขาเราเรียกว่า ลาวา ซึ่งลาวานั้นจะมีแร่ธาตุต่างๆ พร้อมทั้งพลังงานสเคล่าร์ติดขึ้นมาด้วย หากเราพิจารณามวลสารบางอย่างที่ผสมอยู่ในเนื้อพระสมเด็จนั้น จะปรากฏเม็ดโลหะต่างๆ คล้ายเหล็กไหล ซึ่งน่าจะเป็นตัวหนึ่งที่มีพลังงานสเคล่าร์อยู่ในตัวด้วย และในปัจจุบัน ได้มีผู้คิดค้นเครื่องมือวิทยาศาสตร์เพื่อจับกระแสพลังงานออร่าและพลังงานสเคล่าร์ คุณสมบัติของพลังงานดังกล่าวไม่เป็นเส้นตรง ไม่สามารถวัดเป็นหน่วยเฮิร์ซ มีลักษณะเป็นรัศมีวงกลม เป็นพลังงานรูปแบบเสถียร ทำให้สิ่งแวดล้อมเต็มไปด้วยพลัง ซึ่งจะแตกต่างจากพลังงานของสนามคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ที่เป็นเส้นตรง สามารถวัดเป็นหน่วยเฮิร์ซ มีลักษณะเป็นคลื่นไม่เสถียรและเคลื่อนที่ไปเรื่อยๆ ฉะนั้นพลังจิตและพลังที่สถิตอยู่ในพระเครื่องจึงเป็นพลังงานที่เสถียรมีรัศมีเป็นวงรอบๆ และในอีกไม่นานคงจะมีเครื่องมือตรวจสอบพลังงานดังกล่าวถูกนำมาใช้กันอย่างแพร่หลาย เพราะในปัจจุบันได้มีนักวิทยาศาสตร์และแพทย์นำเอาวัตถุที่มีพลังงานสเคล่าร์มาใช้ในการรักษาผู้บาดเจ็บและโรคต่างๆ เพื่อให้การไหลเวียนโลหิตดีขึ้น ซึ่งจะช่วยลดอาการจับตัวของเม็ดเลือดแดงและเม็ดเลือดขาวได้ดีขึ้น 
การเกิดพลังหรือพลานุภาพในพระเครื่องนั้น นับเป็นสิ่งที่กล่าวขานกันมานาน มีทั้งคนที่เชื่อและไม่เชื่อ สำหรับคนที่เชื่ออย่างมีเหตุผล มักจะเป็นบุคคลที่เคร่งครัดและปฏิบัติธรรมตามคำสอนของพระพุทธศาสนา มีการไตร่ตรองถึงเหตุและผลของการเกิดสิ่งนั้นๆ รวมทั้งเชื่อในเรื่องของบาปบุญด้วย และบางคนอาจมีตาในหรือประสบการณ์ในสิ่งที่เหลือเชื่อด้วยตัวเอง บางคนอาจเชื่อเพราะคำบอกเล่า เพราะไม่ได้ศึกษาและปฏิบัติจริง จึงมักหลงเชื่อในสิ่งที่มิใช่ความจริง หรือเชื่อเพราะเป็นคนหัวอ่อน จึงกลายเป็นเรื่องของความงมงายไป สำหรับคนที่ไม่เชื่อเลย มักจะเป็นบุคคลนอกศาสนา คนที่ห่างไกลศาสนา และไม่เชื่อในเรื่องของบาปบุญ หรืออาจเป็นบุคคลหัวก้าวหน้าที่เรียนมาทางด้านวิทยาศาสตร์ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่เชื่อว่าพลังมีจริง เกือบทั้งร้อยพวกเขาล้วนต้องการพระเครื่องที่มีพลานุภาพอย่างแน่นอน แล้วท่านเคยตรวจสอบพลานุภาพในพระเครื่องของตัวเองบ้างหรือยัง ความเป็นนายพล นักการเมือง เศรษฐี หรือความเป็นผู้มีชื่อเสียงของท่าน อาจไม่ได้ช่วยให้ท่านหลุดพ้นจากการสร้างวาทกรรมของกลุ่มคนบางกลุ่มได้ วิธีตรวจสอบพระแท้ นอกจากจะดูด้วยตาของคนเป็นกลางแล้ว ควรจะนำไปให้พระอริยสงฆ์ หรือผู้มีญาณบริสุทธิ์ที่มีอยู่มาก ช่วยตรวจสอบให้อีกครั้ง จึงจะมั่นใจได้ว่า พระที่ท่านแขวนอยู่นั้น เป็นพระแท้ที่มีพลังพลานุภาพจริงคุ้มค่ากับเงินที่เสียไป




ภาพแสดงพลังออร่าในพระชุดเบญจภาคีและพระสมเด็จวัดระฆัง

อนึ่งผู้เขียนเคยให้ผู้มีญาณท่านหนึ่งคือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จตุรวิทย์ เทวธีระรัตน์ ช่วยตรวจสอบพลังออร่าในพระชุดเบญจภาคีได้ผลออกมาดังนี้คือ พระสมเด็จวัดระฆังและพระนางพญา มีรัศมีของพลังออร่าเป็นวงกลมที่สว่างนวลตาเหมือนกัน ซึ่งแสดงว่าพระทั้งสองให้คุณทางเมตตา บารมี และแคล้วคลาดสูง ส่วนพระรอดลำพูนและพระผงสุพรรณ มีรัศมีของพลังออร่าลักษณะเป็นวงรีคล้ายมีดปลายแหลม ซึ่งให้พุทธคุณสูงทางด้านคงกระพัน แคล้วคลาด และปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายออกไป ส่วนพระซุ้มกอ มีรัศมีของพลังออร่าเป็นตาข่ายและยืดหยุ่นได้ ซึ่งมีพุทธคุณสูงทางด้านคงกระพัน ความเหนียว และโชคลาภ ฯลฯ นอกจากนั้น ผู้เขียนเคยนำไปให้พระอาจารย์บุญสวน จันทวัณโณ พระกรรมฐานแห่งวัดป่าประชาสามัคคีธรรม จังหวัดมหาสารคาม ช่วยตรวจสอบพลังและนั่งทางในได้รับคำยืนยันว่า พระแต่ละองค์แม้จะปลุกเสกด้วยพระอริยสงฆ์องค์เดียวกัน แต่จะมีพลังไม่เหมือนกัน อาจเป็นด้วยมวลสารหรือการนั่งปรกแต่ละครั้งไม่เหมือนกัน และยังมีอีกหลายท่านช่วยเช็คพลังภายในปรากฏว่าเหมือนกัน ส่วนผู้ที่สามารถจับวัดระดับความแรงของพลังในพระเครื่องนั้นมีหลายคนเช่น Mr.James Hawkins ชาวอเมริกัน และคุณเก่ง กำแพง ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของ Mr.James Hawkins คุณเก่ง กำแพง ฝึกนั่งสมาธิมาตั้งแต่อายุได้ 8 ขวบ ปัจจุบันเขาสามารถพิสูจน์ได้ด้วยการนำเอาพระใส่ในกล่องไม้ขีดแล้วจับพลังว่า กล่องไหนคือพระแท้และไม่แท้ และผู้ปฏิบัติธรรมในยุคปัจจุบัน ก็ล้วนสามารถตรวจสอบพลังได้แทบทุกคน
อย่างไรก็ตาม การศึกษาพลังที่ปรากฏอยู่ในพระเครื่องนั้น ต้องศึกษาทั้งความเป็นวิทยาศาสตร์คือ ศึกษาธรรมชาติและความเป็นไปได้ของมวลสารแต่ละชนิด ว่าเป็นสื่อหรือตัวกลางในการกักเก็บพลังงานธรรมชาติอะไรบ้าง และการศึกษาสิ่งที่อยู่นอกเหนือความเป็นธรรมชาติคือ ความสามารถในการเก็บกักพลังงานจากพลังจิตของมวลสารแต่ละชนิดว่าเป็นอย่างไร ซึ่งก็เป็นการยากที่จะพิสูจน์ให้เห็นว่าวัตถุธาตุที่เป็นส่วนผสมในเนื้อพระนั้น ทำให้เกิดอานุภาพศักดิ์สิทธิ์ได้อย่างไร ในบทความนี้ ผู้เขียนขอกล่าวเฉพาะพระสมเด็จวัดระฆังชนิดเนื้อผงเท่านั้น โดยขอตั้งสมมติฐานตามความเชื่อและหลักฐานที่ได้ศึกษาจากบทความในหนังสือ ตำนานพระเครื่องสมเด็จและปฐมอัครกรรมของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พ.รหมรังสี) ที่เขียนโดยเจ้าคุณพระเทพวิสุทธิเมธี (เที่ยง อค.คธม.โม ป.ธ. 9) เจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหารองค์ปัจจุบัน ซึ่งเคยตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2521 และได้นำมาตีพิมพ์อีกครั้งใน หนังสือที่ระลึกงานถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พุทธศักราช 2550 (2550: 172-195) รวมทั้งเอกสารอื่นๆ พอสรุปได้ดังนี้
ผงข้าวสุก ที่ได้จากข้าวสุกหัวบาตรของเจ้าประคุณสมเด็จโต แล้วนำมาบดตากแห้ง ซึ่งเจ้าประคุณนำมาเป็นส่วนผสมในพระพิมพ์ของท่าน เพื่อเทิดทูนความศรัทธาของชาวบ้านที่นำมาถวายท่านและพระภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนา ฉะนั้นในพระสมเด็จจึงต้องเห็นเศษข้าวสุกชิ้นเล็กๆ ลักษณะขาวใสปรากฏอยู่ในองค์พระเสมอ
ผงกระยาสารท ที่ได้จากอาหารประเภทขนมหวาน เช่น ข้าวเม่า ข้าวตอก ถั่วงา มะพร้าว น้ำตาลและแบะแซ ฯลฯ นำมาหมักรวมกันไว้ในตุ่ม ผงกระยาสารทมีคุณสมบัติช่วยในการสมานประสานเนื้อมวลสารให้เหนียวหนืดยึดเกาะเป็นเนื้อเดียวกัน ผู้เขียนสันนิษฐานว่า ทั้งผงข้าวสุกและผงกระยาสารทน่าจะเก็บกักพลังพุทธานุภาพทางด้านความอุดมสมบูรณ์ เนื่องจากผงทั้งสองชนิดเป็นอาหารสำหรับมนุษย์และสัตว์
ผงเกสร คือ ผงที่ได้จากมวลดอกไม้ทั้งส่วนเกสรและกลีบดอกที่ผ่านการผึ่งตากแห้งแล้ว เช่น เกสรดอกบัว มะลิ พิกุล จำปี จำปา ส่วนมากจะใช้ดอกมะลิ ดอกพิกุล และเกสรดอกบัวเป็นหลัก ดอกไม้และเกสรจึงเป็นส่วนผสมหนึกนุ่มและมีกลิ่นหอม ดอกไม้ที่ผ่านการบูชาพระรัตนตรัยแล้ว จะทำให้ทรงพลานุภาพ มีอานุภาพศักดิ์สิทธิ์ทางมหาละลวย ยิ่งเป็นดอกไม้ที่ใช้ในงานเทศกาลใหญ่ๆ เช่น งานเทศน์มหาชาติแล้ว ยิ่งจะมีอานุภาพสะกดจิตทั้งคนและสัตว์ให้อยู่ในอำนาจฉมังนัก
ผงว่านต่างๆ ที่ได้จากพฤกษชาติตระกูลว่านต่างๆ มากมายนับร้อยชนิด คุณสมบัติของว่านโดยทั่วไปส่วนมากใช้ในการรักษาโรค บางชนิดใช้คุ้มครองตัว และบางชนิดมีพลานุภาพทางคงกระพัน ฉะนั้น พระสมเด็จชนิดเนื้อผงว่านจึงเหมาะสำหรับนำมาใช้ทำเป็นน้ำมนต์เพื่อรักษาโรคาพยาธิได้อย่างวิเศษ และยังอยู่ยงคงกระพันอีกด้วย
ผงชานหมาก ซึ่งพบในพระสมเด็จเฉพาะพิมพ์ สมเด็จชานหมาก เท่านั้น ส่วนพิมพ์อื่นๆ ผู้เขียนไม่แน่ใจว่าจะมีเป็นส่วนผสมอยู่หรือไม่ พระสมเด็จเนื้อชานหมากมีจำนวนน้อย เนื่องจากชานหมากที่นำมาสร้างพระนั้น เป็นการเคี้ยวหมากที่ท่านเจ้าประคุณสมเด็จต้องปฏิบัติตัวเหมือนการฉันภัตตาหารทุกอย่าง พิจารณาด้วยปัญจเวกขณญาณหรือภาวนาคาถาอย่างใดอย่างหนึ่งกำกับ ฉะนั้นจึงมีจำนวนน้อย พระพิมพ์นี้มีลักษณะสวยงามเรียบร้อยสมบูรณ์เป็นพิเศษ และมีน้ำหนักเบา เนื้อหนึกแน่นแกร่งสีคล้ำ เพราะปูนหมากเกาะติดกันแน่น กล่าวกันว่า ชานหมากของเจ้าประคุณสมเด็จมีพลานุภาพทางเมตตามหานิยมและแคล้วคลาดสูงยิ่ง
ผงตะไคร่ใบสีมา ตะไคร่ เป็นพืชผงชนิดหนึ่งลอยมากับกระแสลมที่พัดพาไปตกในสถานที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นใบสีมา กำแพง เจดีย์ พระปรางค์ ปราสาท ตึกรามบ้านช่อง ฯลฯ โดยเฉพาะที่ก่อสร้างด้วยอิฐปูนหิน ก็มักจะมีตะไคร่เกาะติดเจริญพันธุ์ได้เป็นอย่างดี โดยทั่วไปพืชตะไคร่ภูเขามีคุณสมบัติตามตำราเภสัชศาสตร์ว่ามีคุณทางรักษาโรค ส่วนตะไคร่ชนิดอื่นๆ มีคุณสมบัติทางดูดซับน้ำ ซึ่งท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ใช้ตะไคร่ใบสีมาบดเป็นผงผสมในพระเครื่องเพื่อประโยชน์ 2 อย่างกล่าวคือ 1) เพื่อประโยชน์ทางดูดซับน้ำ สามารถรักษาเนื้อพระให้คงทนได้นานไม่ผุกร่อน เหมือนกับการรักษาโบราณสถาน ผงตะไคร่ใบสีมาในองค์พระจะเห็นเป็นลักษณะสีเขียวหม่น มักไม่ค่อยปรากฏให้เห็นมากนัก 2) แสดงความหมายแทนเขตสีมา ซึ่งเป็นแดนศักดิ์สิทธิ์ที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ จึงมีความหมายทางคุ้มครองป้องกันภัยพิบัตินานาประการ และทรงตะบะเดชะเป็นที่เกรงขามในหมู่อมิตร
ผงกรุเก่า ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ นำผงจากกรุพระเก่าที่พบเห็นตามโบราณสถานต่างๆ เนื้อพระสมเด็จที่ผสมด้วยผงกรุเก่า ส่วนมากเนื้อจะซุย มักมีเศษของโลหะ หิน กรวด ทราย และพระธาตุปรากฏให้เห็นดวงเล็กจิ๋ว การที่จะได้ผงกรุเก่ามานั้น ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ต้องกระทำพิธีบอกกล่าวเจ้าที่และเทวดาผู้อารักษ์ทั้งหลายด้วยญาณสัมผัส ฉะนั้น ผงกรุเก่าที่ได้มานั้นย่อมบริสุทธิ์ผุดผ่อง จึงสามารถป้องกันเสนียดจัญไรได้ดีนัก
ผงดินสอ พระสมเด็จเนื้อผงดินสอ สร้างจากดินเหนียวสีเหลืองอ่อน ซึ่งไม่ทราบที่มาว่า เจ้าประคุณสมเด็จฯ ท่านได้มาจากที่ใด ท่านให้คนคลึงปั้นเป็นดินสอแท่งเขื่องกว่าชอล์ก ตากแห้งแล้วจึงเขียนอักขระบนกระดานชนวน เขียนไปลบไปพร้อมกับกวาดเศษผงลงในบาตรเก็บไว้ ผงดินสอแต่ละอณูสำเร็จด้วยสมาธิแน่วแน่ ไม่วอกแวกหวั่นไหว พระพิมพ์นี้จึงมีพระพุทธคุณสูงสุด ประเสริฐแท้ ลักษณะเนื้อเป็นสีน้ำตาลแก่อมเหลือง ยุ่ยและเปื่อยง่าย มีอยู่ 2 แบบคือ แบบฐาน 3 ชั้นทรงนิยม และฐาน 5 ชั้นอกร่องหูยาน พบเห็นน้อยมากและมีสภาพที่ไม่ค่อยสมบูรณ์ พบเห็นเฉพาะที่บรรจุในกรุหลังวัดระฆังที่เปิดกรุเมื่อปี พ.ศ. 2461 ต่อมามีพระธุดงค์เคยไปพบเห็นในกรุกลางป่าแถบภาคเหนือจำนวนหนึ่ง ส่วนเนื้อผงดินสอจะถูกนำไปผสมในพระสมเด็จทุกพิมพ์ด้วยหรือไม่ ไม่มีใครตอบได้
ผงอิธะเจ ผงอิธะเจมีสูตรในการสร้างต้องยึดถือแนวปฏิบัติ 4 อย่างโดยไม่ให้ผิดพลาดแม้แต่ครั้งเดียวคือ ตั้ง-ตัด-เรียก-ลบ ตั้งหมายถึงการเขียนตัวอาคม (อักษรขอม) เต็มตามจำนวนบนกระดานชนวน ตัดหมายถึงตัดตัวอาคมตัวใดตัวหนึ่งออก เรียกหมายถึงเรียกชื่อตัวอาคมทีละตัวๆ ตามลำดับ ลบหมายถึงลบตัวอาคมอย่างหนึ่งแล้วบังเกิดตัวอาคมอีกอย่างหนึ่ง หรือลบตัวอาคมทั้งหมดแล้วเปลี่ยนสภาพเป็นมิติอย่างอื่น เช่น ตั้งตัว อิติ แล้วตัดออกเรียกชื่อตัว อิ ตั้งตัดเรียกลบไปเรื่อยๆ ไม่ขาดระยะจนบังเกิดเป็นองค์พระเป็นอัฑฒจันทร์และอุณณาโลม ลบองค์พระอัฑฒจันทร์ อุณณาโลมบังเกิดเป็นอุณณาโลมเพิ่มขึ้นอีก 5 รวมเป็น 6 อัน แล้วลบอุณณาโลมเหล่านั้นออกเสีย จึงบังเกิดเป็นนิพพาน ฉะนั้นผงอิธะเจของเจ้าประคุณสมเด็จฯ จึงทรงคุณภาพทางเมตตามหานิยมอย่างหาที่เปรียบมิได้
ผงปถมัง การทำผงตามสูตรในพระคัมภีร์ปถมังนี้ จัดว่าเกินวิสัยของสามัญมนุษย์ เพราะวิธีการทุกอย่างคล้ายข้อปฏิบัติในพระกัมมัฏฐาน ซึ่งมีปรากฏอยู่ในหนังสือคัมภีร์ พระเวทย์ตติบรรพ์ ซึ่งคัมภีร์ปถมัง 8 วรรค คัมภีร์ปถมัง 9 วรรค-คัมภีร์ปถมังภาณวาร-คัมภีร์ปถมังอังคะวิฏฐาน-ปถมัง พระเจ้าตรึงไตรภพ-องค์พระปถมัง-นะเกร็ดปถมัง ทั้งหมดนับว่าเป็นพระคัมภีร์ที่วิจิตรพิสดารละเอียดมาก ซึ่งไม่ทราบว่า เจ้าประคุณสมเด็จฯ จะประกอบพิธีอย่างใดไม่มีใครทราบได้ แต่พุทธคุณที่ปรากฏนั้น สามารถป้องกันภัยได้ไม่ว่าจะเป็นราชภัย โจรภัย อัคคีภัย อุทกภัย อุปัทวอันตราย และป้องกันสรรพศาสตราวุธทั้งปวงได้อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ลักษณะของผงอิธะเจและผงปถมังนั้น ผู้เขียนไม่สามารถแยกแยะและอธิบายลักษณะได้ จึงได้แต่คาดเดาว่า น่าจะเป็นก้อนผงสีขาวขุ่นและผงสีครีมที่กระจายอยู่ทั้งองค์พระ
ผงใบลาน ได้จากใบลานที่จารึกพระธรรมที่ชำรุดแล้ว ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ นำมาเผาไฟ ซึ่งเปรียบประหนึ่งเป็นการถวายพระเพลิงพระบรมศพของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ที่ 2 ผงใบลานเปรียบด้วยพระบรมสารีริกธาตุของพระบรมศาสดา ผสมพิมพ์เป็นพระเครื่องพร้อมด้วยผงอื่นแล้วคล้ายกับพระบรมสารีริกธาตุที่กระจัดกระจายอยู่ทั้งองค์พระ เนื้อผงใบลานมีลักษณะสีดำด้านขนาดเล็กๆ ส่วนพระสมเด็จพิมพ์ผงใบลานนั้น เนื้อพระทั้งองค์จะมีสีดำ มีมวลสารแร่ธาตุอื่นๆปรากฏบ้างไม่มากนัก อาจเป็นเพราะผงใบลานมีจำนวนมากกว่าจึงข่มสีอื่นเลือนหายไปหมด อย่างไรก็ตาม ผงใบลานแม้จะมีมากหรือน้อยก็ให้พุทธคุณสูง ช่วยบันดาลให้เย็นใจคลายกังวลเรื่องภยันตรายทั้งปวง
ผงพอกช้างเผือก เจ้าประคุณสมเด็จฯ ท่านเอาผงพอกช้างเผือกในป่าที่เป็นมงคลหัตถีประกอบด้วยศุภลักษณะ 7 ประการแล้ว ยังมีผงพิเศษหายากพอกติดผิวหนังอีกด้วย วิธีที่ได้ผงมานั้น เจ้าประคุณสมเด็จท่านเก็บมาจากสะเก็ดผงที่หลุดติดอยู่ตามต้นไม้หรือร่วงลงกองอยู่ใกล้โคนไม้ และมีขนช้างเผือกติดอยู่ด้วย ถ้าเป็นช้างเผือกสะเก็ดผงต้องมียางไม้สมุนไพรผสม และขนต้องขาวตลอด ธรรมชาติของช้างเผือกจะรู้ว่าต้นไม้ใดคือต้นไม้สมุนไพรที่จะช่วยพ่นและพอกทาผิวเพื่อป้องกันโรคและแมลงได้ ผงพอกช้างเผือกอาจมีดีหลายอย่างเช่น มีรัศมีป้องกันคุ้มครองสูง เช่นเดียวกันกับเหล็กไหล เขากวางคุด เขี้ยวหมูตัน ฟันเสือโพรง เมล็ดขนุนทองแดง ไหลปรือเหล็ก ไข่นกแต๊ดแต้หิน ลูกอัณฑะหิน กบตายพราย ดินขุยปู งูวงจันทร์ สิ่งเหล่านี้มีดีในตัวแม้ไม่ผ่านการปลุกเสกก็ล้วนมีพลานุภาพแล้ว ลักษณะที่สำคัญของการผสมผงพอกหางช้างจะพบเฉพาะในพระสมเด็จชนิดเนื้อผงเกสรและผงว่าน เมื่อใช้แว่นขยายส่องดูแล้วจะเห็นเป็นเม็ดสีแดงมัวเหมือนทับทิมที่ยังไม่ได้เจียระไน จุดนั้นแหละคือยางไม้ชนิดหนึ่งที่ติดมากับดินพอกหางช้าง หาใช่แก้วหรือเมล็ดในของดอกไม้พันธุ์ใดไม่ ยางไม้นี้ยังเป็นตัวรักษาเนื้อพระอย่างดีอีกด้วย การใช้ยางไม้รักษาเนื้อพระนั้น มักจะปรากฏในเนื้อพระเก่าแก่ที่มีอายุนับร้อยปีขึ้นไป จะเห็นมากในพระกรุนาดูนและกรุบรบือ จังหวัดมหาสารคาม
ผงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ กรรมวิธีในการทำผงพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณนั้น เบื้องต้นต้องสะสมผงให้มากพอต่อความต้องการ วิธีที่จะได้มากก็คือ สอนหนังสือ เรียกตามโบราณว่า เรียนสนธิเรียนนาม หรือ เรียนหนังสือใหญ่ การสอนอาจารย์เริ่มสอนตั้งแต่ อัตโถอักขระสัญญาโต วิธีสอนต้องใช้ชอล์กเขียนอักขระบนกระดานดำ แล้วอธิบายชี้ให้นักเรียนอ่านทำตัวทีละองค์ ซึ่งบางอาจารย์ต้องใช้เวลานานนับสิบปี จึงจะได้ผงอักขระเพียงพอ ผงอักขระจะบริสุทธิ์ศักดิ์สิทธิ์ได้นั้น เพราะเหตุ 5 ประการคือ 1) อาจารย์และศิษย์สอนและเรียนด้วยศรัทธาอันมั่นคงในพระรัตนตรัย 2) อาจารย์สอนลูกศิษย์ด้วยการยึดหลักธรรมทานเป็นที่ตั้ง 3) ศิษย์มีความเคารพในอาจารย์เหมือนบิดามารดา 4) ขณะสอนขณะเรียนทั้งอาจารย์และศิษย์มีอนาคตญาณตรงกัน คือ สอนและเรียนเพื่อเป็นการสืบต่ออายุพระพุทธศาสนาให้วัฒนาถาวร และ 5) วิชาที่ใช้สอนใช้เรียนคือ พระไตรปิฎก เมื่อได้ผงพอแล้วจึงจะนำไปปลุกเสกในวาระต่างๆ อีกด้วย อย่างไรก็ตาม เจ้าประคุณสมเด็จฯ จะประกอบพิธีเกี่ยวกับผงพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณอย่างไร ไม่ปรากฏหลักฐานใดๆชัดเจนไม่ แต่เชื่อได้ว่า ไม่เป็นการยากที่เจ้าประคุณสมเด็จจะสะสมผงอักขระดังกล่าวเพื่อสร้างพระเครื่องของท่านได้มากมาย พระที่ผสมผงอักขระนี้จะพบมากในพระสมเด็จบางขุนพรหม พระสมเด็จผงพุทธคุณฯ นั้น ข้างนอกถูกอาบด้วยน้ำปูนขาว มีคราบกรุละอองธุลีเกาะติดอีกชั้นหนึ่ง มองเห็นเป็นสีขาวอมเหลืองค่อนข้างแก่จัด เนื้อข้างในที่กะเทาะจะเห็นเป็นสีขาวบริสุทธิ์ หนึกแน่น แข็งแกร่งแห้งสนิท พระสมเด็จที่ผสมผงอักขระนี้ เปรียบเสมือนพระรัตนตรัยอันใสสะอาดที่จะนำทางพุทธศาสนิกชนไปสู่แสงสว่างของชีวิตให้หลุดพ้นจากทุกข์ทั้งหลาย
เม็ดสีเขียวหยก หรือเม็ดสีครามคล้ายหยกที่ไม่ได้เจียรนัย ก้อนใหญ่บ้าง เล็กบ้าง จะเห็นมีเฉพาะบางองค์เท่านั้น ส่วนใหญ่พระที่มีเม็ดสีเขียวหยกนี้ หากนำไปทำน้ำมนต์จะให้คุณทางรักษาโรค
นอกจากเนื้อมวลสารหลักดังกล่าวแล้ว ผู้เขียนขอเพิ่มเติมส่วนผสมบางอย่างที่เห็นปรากฏอยู่ในพระสมเด็จเช่น ผงตะไบสีทอง เงิน ทองแดง ต้องใช้กล้องส่องกับไฟจึงจะเห็น โลหะสีดำมันวาว ผงเหล็กไหล ซึ่งให้พลังออร่าและสเคล่าร์สูงมาก เม็ดใสและขุ่นฝ้า (บางท่านเรียกว่าพระธาตุ) ซึ่งอาจติดมากับเนื้อพระกรุเก่า เช่น พระรอด พระซุ้มกอ พระนางพญา ก็ปรากฏมีเม็ดแร่นี้เช่นเดียวกัน พระบรมสารีริกธาตุและพระธาตุสีต่างๆ ซึ่งมีปรากฏมากในพระสกุลวังหน้า ซึ่งทั้งหมดคงมีส่วนทำให้พลังพลานุภาพถูกเก็บกักไว้ในแร่โลหะเหล่านี้เป็นอย่างดี ถ้ามองในแง่ทางวิทยาศาสตร์ แร่ธาตุเหล่านี้ก็มีคุณสมบัติในการเก็บกักพลังงานไฟฟ้า พลังคลื่นความถี่ต่างๆ หรือพลังงานอื่นๆ แตกต่างกันไป เพียงแต่มนุษย์เราไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าได้ จึงต้องใช้วิธีตรวจสอบด้วยพลังจิตของผู้มีญาณแทน
สรุป การศึกษาพระสมเด็จวัดระฆังที่อธิษฐานจิตโดยเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) นั้น ยังไม่สามารถหาข้อสรุปที่ถูกต้องแม่นยำได้ในขณะนี้ และจะยังคงเป็นปริศนาให้ผู้คนรุ่นหลังได้ศึกษาและค้นหากันอีกต่อไปไม่รู้จบ แต่สิ่งหนึ่งที่เริ่มปรากฏขึ้นมากในยุคนี้ก็คือ การศึกษาแบบอจินไตย ซึ่งเป็น “การศึกษาแบบนอกกำมือเซียน” ซึ่งจะทำให้ผู้ที่ปฏิบัติธรรม สามารถหยั่งรู้ปริศนาได้ และเข้าใจในสภาวะเหนือโลกที่ถูกบรรจุอยู่ในองค์พระ และที่สำคัญคือ สามารถยืนยันในความเป็นพระแท้ด้วยตัวเองได้ ไม่ต้องอาศัยเซียนบงการอีกต่อไป
อ้างอิง
1. คณะกรรมการโครงการสืบสานมรดกวัฒนธรรมไทย. 2542. เบญจภาคี 1. กรุงเทพฯ : สตาร์ปริ๊นท์.
2. จุลทัศน์ พยาฆรานนท์. 2550. บรรยายในห้องเรียนนิสิตปริญญาเอก สาขาวิชาศิลปวัฒนธรรมวิจัย ณ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร กรุงเทพฯ.
3. ฉันทิชย์ กระแสสินธุ์. 2550. ร้อยปีที่สมเด็จฯ จากไป ใน ที่ระลึกงานถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พุทธศักราช 2550”. กรุงเทพฯ : สันติสิริการพิมพ์.หน้า 85-92.
4. ณัฐชัย เลิศรัตนพล. 2554. ภัยพิบัติจากพระเบื้องบน. สืบค้นเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2554 จากhttp://dr-natachai.blogspot.com/
5. พระครูปลัดสมคิด สิริวฑฒโน. 2550. ประวัติสังเขป สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)ใน ที่ระลึกงานถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พุทธศักราช2550. กรุงเทพฯ : สันติสิริการพิมพ์. หน้า62-84.
6. พระศรีวิสุทธิโสภณ (เที่ยง อัคคธัมโม). 2550. ตำนานพระเครื่องสมเด็จและปฐมอัครกรรมของ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ใน ที่ระลึกงานถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พุทธศักราช 2550”. กรุงเทพฯ : สันติสิริการพิมพ์. หน้า 111-138.
7. ศรีศักร วัลลิโภดม. 2537. พระเครื่อง(ราง) พุทธบูชา หรือ พุทธพาณิชย์ ใน ศิลปวัฒนธรรม. ฉบับมกราคม. กรุงเทพฯ : พิฆเณศ พริ้นท์ติ้ง. หน้า77-89.
     8. สุชาติ พิทักษ์มั่นคงกุล. 2552. เอกสารบรรยายในการสัมมนาวิชาการเรื่องพระเบญจภาคี. ณ  คุรุสภา กรุงเทพฯ